เมืองไทย 360 องศา
ทราบกันไปแล้ว สำหรับผลการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และพะเยา ที่ปรากฏว่า ผู้สมัครที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” ล้วนกำชัยชนะทั้งสิ้น และยังเป็นการชนะแบบขาดลอยเสียด้วย โดยชนะผู้สมัครที่พรรคก้าวไกลให้การสนับสนุน หรือประเภทที่ใช้สัญญลักษณ์ “สีส้ม” ของพรรคก้าวไกล ในการรณรงค์หาเสียง
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของความนิยมแล้วก็ต้องยอมรับว่าผู้สมัครของพรรคก้าวไกล หรือที่ทำให้เข้าใจว่า นี่คือคนของพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมสูงพอสมควร เนื่องจากสำรวจผลคะแนนแล้วพวกเข้าเข้ามาเป็นที่สองทุกจังหวัด เพียงแต่ว่ายังไม่มากพอที่จะเอาชนะ หรือแม้แต่เบียดเข้ามาแบบสูสีเท่านั้นเอง
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ก็ต้องนำผลคะแนนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในสามจังหวัดดังกล่าวมานำเสนอดังนี้
มีรายงานผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในสามจังหวัด คือพระนครศรีอยุธยา พะเยา และชัยนาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สมัครในเครือข่าย “บ้านใหญ่” ทั้งสามจังหวัด กวาดชัยชนะทั้งหมด โดยเอาชนะผู้สมัครนายก อบจ. ที่แม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ แต่พบว่า บางคนเป็นอดีตผู้สมัคร สส.เขต พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และบางคนได้รับการสนับสนุนจาก สส.เขต ของพรรคก้าวไกลในจังหวัดดังกล่าว
โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยชนะยังตกเป็นของ “ซ้อสมทรง” หรือ นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีต นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 5 สมัย ที่อยู่มายาวนานร่วม 20 ปี โดยเอาชนะ นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ อดีตนายก อบต.บ้านใหม่ ที่ลงสมัครในนามกลุ่มก้าวใหม่อยุธยา แบบขาดลอย โดยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ นางสมทรง ได้คะแนน 245,457 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งคือนายวัชรพงศ์ที่ได้แค่ 114,063 คะแนน
ทั้งนี้ ในการหาเสียงที่ผ่านมา แม้นายวัชรพงศ์ จะไม่ได้ลงในนามพรรคก้าวไกล แต่การหาเสียงและแคมเปญเลือกตั้ง นายวัชรพงศ์ ได้ใช้สัญลักษณ์สีส้มในการหาเสียง อีกทั้งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ จาก สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม สุดท้าย นางสมทรง ยังคงรักษาเก้าอี้นายก อบจ. ไว้ได้อีกสมัย
สำหรับ นางสมทรง ที่ถือว่าเป็น ”นายก อบจ.สีน้ำเงิน” เพราะมีลูกชายและหลานเป็นรัฐมนตรี และสส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย โดยนางสมทรง เป็นมารดาของ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ และ สส.อยุธยาฯ เขต 3 พรรคภูมิใจไทย รวมถึงยังเป็นแม่ยายของ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช ลูกชายของ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา และแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงยังมีหลานสาวแท้ๆ นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส.อยุธยาฯ พรรคภูมิใจไทย อีกหนึ่งคน จนเรียกได้ว่าเป็นบ้านใหญ่สีน้ำเงิน
ส่วนผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ชัยนาท ชัยชนะตกเป็นของ นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา เป็นบ้านใหญ่ “ตระกูลนาคาศัย”โดยเป็นพี่สาว นายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่มีข่าวว่าเลือกตั้งรอบหน้าจะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย โดยนางจิตร์ธนา ลงสมัครนายกอบจ.ชัยนาท แทนน้องชาย นายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท ก่อนหน้านี้ที่ลาออกก่อนหมดวาระ แล้วเปิดทางให้พี่สาวลงสมัครแทน
นางจิตร์ธนา เอาชนะนายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.ชัยนาท เขต 2 พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่สอบตก รอบนี้เลยมาลงสมัครนายก อบจ.ชัยนาท โดยใช้สีส้ม เป็นแคมเปญหาเสียง ซึ่งลงสมัครในนามอิสระ โดยผลเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ นางจิตร์ธนา คว้าชัยชนะได้คะแนนร่วม 62,860 คะแนน ส่วนอันดับสอง คือ นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ ที่ได้ 44,690 คะแนน
ส่วนที่จังหวัดพะเยา พื้นที่การเมืองสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวจะย้ายไปพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งรอบหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อ 3 พ.ค. พรรคเพื่อไทย มีการแถลงเปิดตัว ว่าจะส่ง นายอัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา สมัยที่ผ่านมา น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงสมัครนายก อบจ.พะเยา ในนามพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้าย ร.อ.ธรรมนัส และนายอัครา มีการเปลี่ยนแผน โดยนายอัครา ไม่ลงสมัคร แต่ส่งนายธวัช สุทธวงค์ คนสนิทของนายอัครา ลงสมัครแทน ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมา ไม่พลิกล็อกเพราะ นายธวัช จากเครือข่ายจากบ้านใหญ่พะเยา-ตระกูลพรหมเผ่า ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย
โดยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ นายธวัช ได้คะแนน 157,560 คะแนน ทำให้เอาชนะ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย อดีตผู้สมัครสส.พะเยา เขต 3 พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาไปได้แบบขาดลอย เนื่องจาก นายชัยประพันธ์ ได้แค่ 31,557 คะแนน
เอาเป็นว่าเมื่อเห็นผลคะแนนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ผู้สมัครที่ต้องเรียกรวมๆ ว่า ในนามพรรคก้าวไกล “สายสีส้ม” พ่ายแพ้ทุกจังหวัดในสามจังหวัด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า แม้ว่าพวกเขาจะพ่ายแพ้ แต่ก็มาเป็นลำดับสองในทุกจังหวัดเช่นเดียวกัน หากมองในมุมนี้ ก็ต้องถือว่าน่าสนใจเหมือนกัน เพราะหากมองว่าเป็นเรื่องของ “กระแสความนิยม” พรรคนี้ก็ต้องถือว่ายังเป็นกลุ่มเป็นก้อน
เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จริง แต่เป็นการเลือกตั้งทั้งจังหวัด บางทีมันก็เหมือน “แบบจำลอง” การเลือกตั้งส.ส.ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าครั้งนี้ “เครือข่ายก้าวไกล” ยังต้องต่อสู้กับ “บ้านใหญ่” ในแต่ละจังหวัด ที่มีอิทธิพลมาอย่างยาวนาน อีกทั้งในแต่ละจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งในแต่ละอำเภอที่อยู่รอบนอก ไม่ใช่ในเขตเมืองหรือตัวจังหวัด ทำให้ลักษณะของฐานเสียงยังเป็นแบบดั้งเดิมมีสูง มากกว่า “กระแส” ในบางพื้นที่ที่นิยมพวกก้าวไกล
อย่างไรก็ดี ก็ต้องพิสูจน์กันอีกครั้งในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุดใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศในต้นปีหน้า ว่าจะออกมาแบบไหน และเห็นภาพชัดกว่า
แต่หากพิจารณากันในภาพรวมจากผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในสามจังหวัดดังกล่าว ที่ “เครือข่ายก้าวไกล” พ่ายแพ้ในทุกจังหวัด และถือว่า “แพ้ขาด” ก็จริงอยู่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งพวกเขาก็ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสองในทุกจังหวัดแบบเป็นกอบเป็นกำ ยังกลายเป็น “กระแส” เพียงแต่ว่ามันยัง “ไม่แรงพอ” ถึงขั้นสูสีหรือเอาชนะได้ ขณะเดียวกันมันยังสะท้อนให้เห็นว่า “บ้านใหญ่” ยังมั่นใจได้เสมอ ซึ่งมันก็ย่อมส่งผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า ที่ทุกพรรคต้องโฟกัส เพื่อประกันความชัวร์ นั่นแหละ !!