วุฒิฯ ถกเดือดปมตั้ง กมธ.สอบประวัติอัยการสูงสุด “ส.ว.พันธุ์ใหม่-สีขาว” เปิดหน้าสู้ “กลุ่มน้ำเงิน” โวยเสนอชื่อก๊วนยกแพ็กล็อบบี้ผ่านไลน์ ทำอับอายถูกมองเป็น “สภารีโมต” จี้โยนกลับให้ ก.อ.ทบทวนใหม่ ก่อนวอล์กเอาต์ หลังค้านไม่สำเร็จ “บิ๊กเกรียง“ ไม่สนเดินหน้าโหวตฉลุย
วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการตั้ง กมธ. ขึ้นใหม่ เพื่อทำงานต่อเนื่องจาก กมธ.ชุดเดิมซึ่งเป็น ส.ว.ชุดก่อนหน้าและต้องหมดวาระเนื่องจากทำงานครบ 5 ปี โดยตามกระบวนการต้องพิจารณาชื่อของอัยการสูงสุดตามที่คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เสนอชื่อ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่ง
ขณะที่ ส.ว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ มีความเห็นให้ส่งชื่อนายไพรัช คืนให้ ก.อ. ทบทวนและเสนอกลับมาใหม่ อาทิ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. นางอังคณา นีละไพจิตร ส.ว. อภิปรายให้ส่งคืนรายชื่อดังกล่าวเพื่อไม่ให้ภาพการทำงานของ ส.ว.ปัจจุบันเป็นการรับมรดกจาก ส.ว.ชุดเก่า และเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส
น.ส.นันทนา อภิปรายว่า เข้าใจว่าบุคคลที่ถูกเสนอชื่อมาไม่มีความอาวุโสสูงสุด จึงอยากให้ส่งชื่อเพื่อให้ยืนยันกลับมาอีกครั้ง และการเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ควรทำให้เกิดความโปร่งใส ตอบคำถามกับประชาชนได้ว่า เป็นผลงานของ ส.ว.ปัจจุบันตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้รับมรดกของ ส.ว.ชุดใดมา ดังนั้น ขอให้เริ่มต้นจากการตรจสอบที่เข้มข้นจาก กมธ.ใหม่ ไม่รับข้อมูลที่เป็นของเดิม ที่ กมธ.ทำเป็นการเป็นลับ และไม่รู้การตรวจสอบเป็นอย่างไร
ขณะที่ นางอังคณา อภิปรายสนับสนุนว่าไม่ควรคำนึงถึงเวลาเร่งรีบที่ต้องให้ได้บุคคลในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.ว.ชุดก่อนมีมติไม่เห็นชอบตุลาการที่เสนอชื่อจาก กรรมการตุลาการศาลปกครอง ในช่วงเวลาเดือนเศษก่อนหมดวาระ เมื่อเวลาหน่วยงานเสนอมาใหม่ ถูกปฏิเสธจากวุฒิสภา เชื่อว่า หน่วยงานไม่กล้าเสนอคนเดิม ดังนั้น ตนสนับสนุนให้ส่งคืนรายชื่อให้หน่วยงานและเสนอกลับเข้ามาใหม่
แต่ก็มี ส.ว.ที่แสดงความเห็นคัดค้าน อาทิ พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ส.ว. นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม ส.ว. อภิปรายเห็นแย้งว่า การแต่งตั้งอัยการสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด หากถอยแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ อาจจะไม่ทันต่อการได้ตำแหน่งดังกล่าวในเดือน ต.ค.นี้ ดังนั้น ควรพิจารณาเสนอชื่อ กมธ.เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณา
ด้าน นายบุญส่ง ยืนยันให้พิจารณาเสนอชื่อ กมธ.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ทำให้ที่ประชุมเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อ กมธ. แต่พบว่า มีการรเสนอชื่อ ส.ว. เป็น กมธ.ตรวจสอบประวัติ เกินกว่า 15 คน ทำให้ที่ประชุมต้องใช้การลงมติผ่านบัตรลงคะแนนเพื่อตัดสิน ทั้งนี้ เป็นน่าสังเกตว่ามีการเสนอรายชื่อแบบเป็นกลุ่มมก้อน โดย นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ส.ว. เสนอรายชื่อ กมธ. 15 คน โดยพบว่าเป็นสัดส่วนที่เตรียมมาแล้วล่วงหน้าและเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน
ทั้งนี้ นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย ส.ว. หารือว่า การเสนอชื่อ ส.ว.ให้เป็น กมธ.ดังกล่าวถือเป็นภาพที่สำคัญ หากภาพออกไป 15 คนเรียงกันที่เสนอไป ประชาชนที่ดูในขณะนี้ข้อสงสัยและไม่มั่นใจได้ ขอหารือเสนอตนเองก่อนที่จะเสนอเป็นชุด เพื่อให้เกิดความหลากหลายไม่เป็นกลุ่มเดียวเกินไป
ต่อจากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. อภิปรายว่า ตนเสนอชื่อตนเองก่อนหน้านี้ การเสนอเป็นชุดใหญ่นั้นมาทีหลัง หากเป็นแบบนี้ภาพที่ออกไป คือ สภารีโมต สภาใบสั่ง ซึ่งตนอายและไม่ยอมจะสู้ให้ถึงสว่าง ทั้งนี้ การตั้งองค์กรอิสระถือเป็นหัวใจของวุฒิสภา
“ขอให้ท่านต้องตอบให้รู้ว่าจะต้องขออนุญาตจากใครที่เป็นเจ้าของสภา ที่เสนอมาเป็นชุดแสดงว่าอย่างไร ที่เสนอรวดเดียว โดยไม่ฟังว่าคนที่ต้องการเป็น อย่างผมนั้นถูกมองข้าม หากเสนอแบบนี้จะเกิดปัญหาเรื่อยๆ” นพ.เปรมศักดิ์ อภิปราย
นายบุญส่ง ชี้แจงว่า ไม่ห้ามเสนอตนเอง เป็นสิทธิ ส.ว. ใครจะได้เป็น ยึดตามมติของ ส.ว. อย่าลืมว่าเป็นสมาชิกปวงชนชาวไทยที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลแล้ว
ขณะที่ นายนรเศรษฐ์ ปรัชญาก ส.ว. เสนอรายชื่อ ส.ว.ในกลุ่มพันธุ์ใหม่ 10 คน อาทิ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย นางอังคณา นีละไพจิตร น.ส.นันทนา นันทวโรภาส นายวีรยุทธ์ สร้อยทอง นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ ให้เป็น กมธ.ด้วย
ทางด้าน พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ ส.ว. อภิปรายว่า ส.ว.เป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาล ราชการแผ่นดิน การปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. ประชาชนติดตามทุกจังหวัด ขอให้เป็นไปตามบทบาทของกฎหมาย รู้เจตนาอยู่แล้ว ทุกอย่างสังคมเห็นเจตนา ขอให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องของบ้านเมือง
ทั้งนี้ หลังจากการเสนอชื่อที่พบว่ามีการเสนอชื่อ รวม 34 คน ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดทำให้ต้องใช้การตัดสินด้วยการออกบัตรลงคะแนน และด้วยระยะเวลาเตรียมบัตรออกเสียงต้องใช้เวลาทำให้นายบุญส่งแจ้งให้พักการประชุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการก่อนออกเสียงลงคะแนนเพื่อตัดสิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปิดการประชุมอีกครั้ง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และให้ดำเนินการเลือกกรรมมาธิการสามัญ แต่ น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ ส.ว. ลุกขึ้นกล่าวว่า การประชุมตลอดทั้งวันที่เกิดขึ้นตนรู้สึกผิดหวัง เศร้าใจ เสียใจไม่คาดคิดว่าจะมาเจอภาพบรรยากาศแบบนี้ ที่มีการเสนอชื่อเป็นแพ็ก 15 ท่าน เป็นกลุ่ม เป็นก้อน แล้วเราต้องมาโหวตกันหรือ วาระนี้เป็นวาระที่สำคัญที่สุดของการเป็นสมาชิกวุฒิสภา คือ การแต่งตั้งตรวจสอบองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นหัวใจของเรา ทำไมไม่คุยกัน ทำไมต้องลงมติเลือกแพ็กที่แพ็กกันมาตาม
“เหตุการณ์นี้มันคุ้นที่ดิฉันยังไม่ลืม แต่มันผ่านมาแล้ว และวันนี้พวกเราได้เข้ามาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ภาษีและงบประมาณของประเทศชาติ ควรทำให้มันสวยงามน่าอยู่ ทำไมบรรยากาศไม่เป็นอย่างนั้น เราเคยมีเผด็จการรัฐสภามาแล้ววันนี้ทำไมเราจะปล่อยให้เผด็จการวุฒิสภาอีก ท่านกำลังทำอะไรกันอยู่ ท่านทำหน้าที่เพื่อประชาชนประเทศชาติได้หรือไม่ เราต้องมาเลือกกันแบบนี้หรือ เจอบรรยากาศ 15 แพ็ก 15 คน ตั้งแถวกันมาแล้ว มีแจ้งในไลน์หรือจดกันอีก ควรพอได้แล้วอย่าให้ประชาชนที่มองเราวันนี้ผิดหวังกับเรามากไปกว่านี้ หลายท่านในที่นี้มีเกียรติ์สง่าราศีทั้งคุณงามความดีมาทั้งชีวิตอย่ามาทิ้งตรงนี้เลย ขอให้ช่วยกลับทบทวนในจิตใจสักนิด ขอให้ท่านปิดไลน์ไป เลยเมื่อกี้มีคนเดินบอกว่าให้อานไลน์ด้วย พอเถอะดิฉันอับอายขายหน้า ผลออกมาประชาชนรู้ว่าเราทำอะไรกันอยู่ ท่านอายหรือไม่ไม่ทราบ แต่อย่าให้วันนี้เป็นประวัติศาสตร์อันอัปยศในชีวิตของเรา”
นอกจากนี้ น.ส.รัชนีกร ยังได้เสนอตามข้อบังคับ 79 การสรรหาสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญวุฒิสภาวาระ โดยขอเทียบเคียงตามหลักปฏิบัติ คือ กรณีที่เสนอชื่อเกินกว่าจำนวนที่ต้องการให้ใช้วิธีไกล่เกลี่ยหรือถ้าไม่ได้ก็ขอให้จับสลากเพราะเชื่อว่า รายชื่อทั้งหมดที่เข้ามาวันนี้ เขาตั้งใจมาทำงานและมีศักยภาพสูงสูงไม่อยากให้เป็นก้อนเดียวกันเข้ามาทำงาน
ด้าน พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน เราเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง มีความรู้ความสามารถผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่สรรหาพวกเรามา ก็ต้องขอบคุณสมาชิกที่ช่วยกันเตือนสติ แต่ตนขอทำหน้าที่ในการเลือกกรรมาธิการดังกล่าว การเสนอรายชื่อท่านก็เห็นอยู่แล้วมีการเสนอเป็นกลุ่มอยู่ 2-3 รายด้วยกันเป็นไปตามกฎกติกา ข้อบังคับที่เราคิดเห็นร่วมกัน ดังนั้น ตนขออนุญาตดำเนินการตามมติกันต่อไป เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอตัวเองหรือเสนอกลุ่มของตัวเอง เพื่อทำหน้าที่กรรมาธิการด้วยความตั้งใจ โดยเป็นไปตามข้อบังคับที่ต้องลงมติ จึงควรดำเนินการเลือกกรราธิการจำนวน 15 คน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้อภิปรายความเห็นหลากหลายก่อนทำการลงคะแนน ขณะที่ ส.ว.กลุ่มพันธุ์ และกลุ่มสีขาว พากันวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม