นายกฯ คิกออฟ บริหารจัดการน้ำ สั่ง สทนช.ส่งแผนน้ำเข้า ครม.สิ้นเดือน ส.ค.มั่นใจน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน เฝ้าระวัง “ตะวันออก-อีสาน” ใกล้ชิด ยันแก้ปัญหาน้ำได้ประเทศเดินหน้า มั่นใจเอาอยู่น้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54
เมื่อเวลา 10.08 น. วันที่ 5 ส.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้น้ำบริโภค ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” อย่างยั่งยืน ซึ่งตนเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้
1. การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2. การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3. การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4. การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5. การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนและรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยตนได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า แผนระยะ 3 ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ขอให้คอยถึงสิ้นเดือน ส.ค.ดีกว่า ให้ สทนช. เตรียมเรื่องให้ครบก่อนวันนี้เป็นวันคิกออฟ แล้วสิ้นเดือน ส.ค.จะมีการแถลงใหญ่
เมื่อถามต่อว่า มีพื้นที่ไหนที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ดูรายงานก็มีภาคตะวันออก ที่กำลังประสบปัญหาอยู่และภาคอีสานบางจุด ก็มีการสั่งการแล้วว่าให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้มีการปรับแผนตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการรายงานผลของ GISTDA
เมื่อถามอีกว่า มีการแจ้งเตือนประชาชนได้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ให้ GISTDA ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทย
เมื่อถามต่อว่า นายกฯ เป็นห่วงและเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนเรียนอย่างนี้อาชีพกษตรเป็นอาชีพหลักของเราหลาย 10 ล้านคน เรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ พวกเราในกรุงเทพฯมีน้ำใช้กันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าลงไปต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีเราใช้งบประมาณในการชดเชย เรื่องการช่วยเหลือจุนเจือเป็นปลายเหตุ ถ้าเราบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วมน้ำแล้ง ตนเชื่อว่า ความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่ดารเมืองโลกร้อนระอุ มีการเรื่องแย่งอาหารเยอะมาก จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านนี้มาก เรื่องน้ำมีอยู่ 3-4 เรื่อง คือ น้ำในระบบนิเวศ น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้ในการเกษตร และเรื่องสุดท้ายพูดกันน้อย คือ น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการน้ำเยอะ การที่เราไปเชิญต่างชาติให้เขามาลงทุน และให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุน เขามาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เราต้องบูรณาการครบทุกภาคส่วน ผู้บริหารทุกท่านเห็นพ้องต้องการ ถ้าเราบริหารจัดการน้ำได้ดีประเทศไทยก็เดินไปข้างหน้าได้
เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกฯ ยิ้ม ก่อนกล่าวว่า ครับ