“ชำนาญ” เหิม เตือนศาล รธน.อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน ยุบก้าวไกล อ้างจะทำไทยพลาดเก้าอี้ในยูเอ็น มองผลจะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์ แต่ยังเชื่อจะรอด เพราะไม่อยากให้กระแสท้องถิ่นแรงแห่มาเลือก และทำการเมืองเหลือขั้วเดียว
วันนี้ (4 ส.ค.) นายชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน และเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มีประสบการณ์ผ่านคดียุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว วิเคราะห์คำตัดสินของศาล รธน.ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยมองว่า พรรคก้าวไกลมีโอกาสรอดจากการถูกยุบพรรค จากเหตุผลทั้งบริบทการเมือง ข้อกฎหมาย และเรื่องของเวทีต่างประเทศ โดยเรื่องของเวทีต่างประเทศ ก็เพราะในเดือนหน้านี้ ศาล รธน.ของไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร (มีประธานศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่า จากประเทศสมาชิก 18-19 ประเทศ เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยคาดว่า จะมีมาร่วมงานประมาณเกือบ 400 คน) ซึ่งจุดนี้คืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เหตุใด ศาล รธน.จึงนัดตัดสินคดีสำคัญๆ ในช่วงนี้ เพื่อให้เสร็จก่อนการประชุม ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ก็ไม่รู้ว่าจะแบกหน้าไปคุยกับเขาได้อย่างไร เพราะการที่จะสั่งยุบพรรคการเมือง มันต้องเป็นเรื่องร้ายแรงมากๆ
นายชำนาญ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังรณรงค์อย่างหนัก เพื่อสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในวาระปี ค.ศ. 2025-2027 ซึ่งเท่าที่ทราบถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่แค่เฉพาะคดี 112 ที่จะพบว่าเกือบทุกคดี จะไม่มีการให้ประกันตัวยกเว้นแค่บางคดี เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว แล้วยิ่งหากจะมายุบพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถ้าแบบนี้ ก็ปิดประตูตายได้เลย ไม่ต้องไปลุ้นให้เหนื่อย
แกนนำคณะก้าวหน้า มองว่า ผลการลงมติของ 9 ตุลาการศาล รธน.วันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่ออกมาแบบเอกฉันท์แบบตอนลงมติตัดสินคดีที่ 3/2567 หรือคดีล้มล้างการปกครองฯ โดยอาจจะออกมา 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ประมาณนี้ ซึ่งแนวทางคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่จะออกมา จะมีแค่สองแนวทางเท่านั้น คือ หนึ่ง “ไม่ยุบพรรคก้าวไกล” ส่วนหากจะออกมาเป็นแบบยกคำร้อง โดยใช้เหตุว่ากระบวนการพิจารณาของ กกต.ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย-ระเบียบของ กกต. ถ้าออกมาแบบนี้ มันจะไม่ตัดสิทธิที่ กกต.จะยื่นคำร้องเข้ามาใหม่อีกครั้งได้ เช่น หากตัดสินยกคำร้องด้วยเหตุว่า กกต.ไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง ก็ยังทำให้ กกต.สามารถไปเซ็ตคำร้องคดีขึ้นมาใหม่ได้ อาจใช้เวลา 1-2 ปี ก็ว่าไป มันไม่ใช่การฟ้องซ้ำ เพราะฟ้องซ้ำคือการมาฟ้องคดีที่ตัดสินคดีไปแล้วแต่เป็นคดีประเภทเดียวกัน คู่ความคนเดียวกัน ข้อหาเดียวกัน มาฟ้องซ้ำอีก แต่ถ้าศาลรธน.ยกคำร้อง ก็หมายถึงทำไม่ถูกขั้นตอน ก็ยังให้ไปทำมาใหม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก แต่ก็อาจเป็นทางออกของเขา แต่มันก็จะเป็นชนักติดหลังพรรคก้าวไกลได้อยู่ว่า “อย่าดิ้นมาก” เดี๋ยวจะยื่นคำร้องไปศาล รธน.ใหม่ได้อีก ที่ก็ต้องไปตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีการเรียกพยานอะไรไปชี้แจง กว่าจะเสร็จอาจถึงช่วงตอนเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า และแนวทางที่สอง ก็คือ ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหากจะเป็นแบบนี้ ก็แค่อิงคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ เมื่อ 31 ม.ค. 2567 ก็พอ
แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่า พรรคก้าวไกลจะรอดในคดียุบพรรค ก็เพราะหากก้าวไกลโดนยุบพรรค จะยิ่งแปรเป็นความคับแค้น ความเห็นใจ อย่างคนที่อยู่กลางๆ เองเขาจะมีความเห็นใจ จนกลายเป็นคะแนนให้มาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น กับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ทั่วประเทศในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า และตามด้วย เทศบาล-อบต. -กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา ถ้ายิ่งไปทำแบบนี้ คนก็จะยิ่งเลือกผู้สมัครท้องถิ่นของพรรคใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ดูได้จากที่ก้าวไกลได้ ส.ส.และมีสมาชิกพรรคมากกว่าสมัยอนาคตใหม่
นายชำนาญ ระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล จะทำให้การเมืองไทยเหลือเพียงขั้วเดียว ซึ่งประสบการณ์ในอดีต ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร หากการเมืองขั้วที่เหลืออยู่ เห็นหมดเสี้ยนหนาม ถ้าก้าวไกลหายไประยะหนึ่งจะยิ่งลำพองใจ สมัยก่อนก็เคยเห็นกันแล้ว ได้มา 377 เสียง ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง แต่หากยังคงให้มีพรรคก้าวไกลอยู่ ก็ยังทำให้เกิดการคานกัน การถ่วงดุลกันได้อยู่ ทำให้จึงเชื่อว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลาย ก็คงคิดเก็บพรรคก้าวไกลไว้ก่อน คือ ศาล รธน.เป็นคดีที่ตัดสินคดีการเมือง การเมืองมันพลิกผันได้ตลอดเวลา ผมเข้าใจเอาเองว่า ตอนนี้มันนิ่งแล้ว ฝ่ายผู้มีอำนาจเขาคิดว่าเขาชนะแล้ว เพราะแกนนำที่เคยเคลื่อนไหวเรื่อง 112 ก็ติดคุกกันเยอะ ส่วนพรรคก้าวไกลก็โดนฟรีซแช่แข็งเรื่อง 112 ทำอะไรไม่ได้ คือเขาคอนโทรลได้หมดทุกอย่างแล้ว เอาเฉพาะตอนนี้ และถ้าไม่ยุบก้าวไกล จะทำให้ก้าวไกล ก็จะมีโซ่ค้ำคออยู่ขยับเรื่อง 112 ไม่ได้
“เชื่อว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องมีการไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนด้วยการจะไปยุบพรรคก้าวไกล แนวโน้มความเชื่อผม มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะยกคำร้อง ก็เช่น อาจจะออกมาไปในแนวทางว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการไต่สวนคำร้องตั้งแต่แรก เพราะหากจะไปยกคำร้องว่าก้าวไกลไม่ผิด ทางศาล รธน.ก็มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ค้ำคอเขาอยู่ ที่สำคัญ หากไม่มีการยุบพรรคก้าวไกล แต่จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ในคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่ศาลสั่งห้ามพรรคก้าวไกลกระทำการใดๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตรงนี้ก็จะค้ำคอพรรคก้าวไกลไว้ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปในเรื่อง 112 แต่หากมีการยุบพรรคก้าวไกล แล้วมีการไปตั้งพรรคการเมืองมาแทนก้าวไกล พรรคการเมืองตั้งใหม่ ก็จะไม่ใช่คู่กรณีหรือคู่ความตามคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองอีกต่อไปแล้วเพราะก้าวไกลโดนยุบพรรคไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแทน ก็จะไม่เกี่ยวอะไรกับก้าวไกลอีกต่อไป คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อพรรคการเมืองใหม่ที่ขึ้นมาแทนพรรคก้าวไกล”นายชำนาญกล่าว