“อนุดิษฐ์” หวัง ทอ.ใช้โอกาสซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ ปลดแอกระบบสั่งการ-ควบคุม ที่ต้องได้สิทธิ์-รหัส เพื่อแก้ไข-ปรับปรุง โดยไม่ต้องขออนุญาต รบ.ต่างชาติอีก ทำให้ ทอ.อิสระในการพัฒนาระบบของตนเอง พร้อมพัฒนาอุตฯป้องกันประเทศ เชื่อใครให้ข้อเสนอนี้โอกาสเข้าวินสูง
วันนี้ (2 ส.ค.67) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “EP 3 : นโยบายชดเชยและข้อเสนอการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ตอนสุดท้าย“ โดยกล่าวถึงข้อเสนอของบริษัท Lockheed Martin ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-16 ของสหรัฐอเมริกาใน 4 ข้อที่เหลือ หลังจากที่ได้กล่าวถึง 3 ข้อแรกไปแล้วใน EP 2 โดยได้เน้นในส่วนของข้อเสนอที่ 4 ที่ว่าด้วยการยกระดับมาตรฐานการรับ-ส่งข้อมูล (Advanced datalink upgrade) ระหว่าง F-16 Block 70/72 ที่เนนอขายให้แก่กองทัพอากาศไทย (ทอ.) กับ F-16 AM/BM eMLU และรุ่นย่อยอื่น ๆ ที่ ทอ.มีอยู่เดิม
EP 3 : นโยบายชดเชยและข้อเสนอการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ตอนสุดท้าย
ใน EP...Posted by น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ on Thursday, August 1, 2024
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า ข้อเสนอของบริษัท Lockheed Martin เป็นข้อเสนอที่ดี แต่อาจจะยังไม่ดีพอ เพราะในปัจจุบัน TDL (Tactical Datalink หรือระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี) สำหรับ F-16 จะแบ่งเป็น Link 16 ที่จะมาพร้อมกับแพ็คเกจการจัดซื้อ F-16 Block 70/72 อยู่ แต่อยู่ที่ ทอ.จะต้องจ่ายค่าใช้ Link เป็นจำนวนหลายพันล้านบาทเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า ทอ.ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Link มาตรฐาน NATO (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) เพราะเราไม่ได้รบกับใคร และคงไม่ได้ส่งเครื่องบินรบของเราไปสนับสนุนการรบในสมรภูมินอกประเทศ เหมือนกับประเทศในเครือ NATO อื่นๆที่อาจมีความจำเป็น
“แต่ที่อยากได้มากกว่า และถ้า Lockheed Martin เสนอมาจริงก็น่าเชียร์ นั่นคือ การได้รับอนุญาต (export license) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับการให้ความช่วยเหลือในการติดตั้ง National Datalink (Link TH) ของไทย บนเครื่อง F-16 ปัจจุบันที่ ทอ.มีใช้งานอยู่ รวมถึงการช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมไทยสามารถสร้างระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศ (ACCS: Air Command and Control System) ที่เป็นของตนเอง โดยใช้ TDL Gateway เป็นตัวเชื่อมการปฏิบัติงานระหว่าง F-16 Block 70/72 (Link 16) กับ Link TH“ น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุต่อว่า ทราบมาว่า ในปัจจุบัน ทอ.ยังต้องพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และบริษัทต่างชาติก็ได้แจ้ง ทอ. เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนแล้วว่า ทอ.ไม่มีสิทธิ์ในระบบ TDL ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินรบของเขา และไม่มีสิทธิ์ในระบบ ACCS ของ ทอ.ที่พัฒนาร่วมกันมา โดยการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมการบูรณาการร่วมกับระบบ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลต่างชาติ และต้องจ้างงานแก่ บริษัทต่างชาติ เท่านั้น เท่ากับว่าระบบ ACCS ของไทยยังไม่มีอธิปไตย และต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาลต่างชาติ จะพัฒนาต่อยอดอะไรก็ไม่มีอิสระ ทั้งๆที่เป็นระบบหลักของ Network Centric Operation (การปฏิบัติการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง) ตามหลักนิยมของ ทอ. ซึ่งขณะนี้ระบบอาวุธของ Alpha Jet (บจ.7 ), โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกทดแทน (T-6) และ การจัดหาเครื่องบินโจมตีเบา (AT-6) ของ ทอ. ทั้ง 3 โครงการประสบความสำเร็จในการดำเนินการขออนุญาต (Export License) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับการได้รับ Software Source Code เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอด ปรับปรุง ดัดแปลง เพิ่มเติมการบูรณาการระบบร่วมกับระบบอื่นๆ ได้เอง และมีระบบ System Integration Lab ตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องกลับไปพึ่งพาบริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศ หรือขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีก ทำให้ ทอ.มีความเป็นอิสระในการที่จะพัฒนาระบบ National Tactical Datalink ที่เป็นของตนเองได้
“ใครจะขาย F-16 หรือ ใครจะขาย Gripen ถ้าเสนอนโยบายชดเชยข้อนี้มา ถือเป็นการปลดแอกออกจากบ่าของ ทอ.ในทันที หรือ เครื่องบินรุ่น 4.5 จากบริษัทอื่นๆที่สนใจเข้าแข่งขัน เสนอออฟชั่นนี้มา ผมเชื่อว่ามีโอกาสคะแนนนำคนอื่นอย่างแน่นอน และระบบ ACCS ของไทย จะได้เป็น “ไท” เสียที” น.อ.อนุดิศ
ษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ยังรอติดตามข้อเสนอของบริษัท SAAB ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ Gripen ของประเทศสวีเดน และใน EP ต่อไปจะพูดถึงแนวทางและบรรทัดฐานการระบุเงื่อนไขตาทนโยบายออฟเซต (Offset Policy) หรือนโยบายที่ประเทศผู้ซื้อยุทโธปกรณ์ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์ตามปกติ ซึ่งสามารถนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขสำหรับการใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศทุกประเภท ไม่จำกัดแค่เครื่องบินรบ หรือยุทโธปกรณ์ของกองทัพ.