"แดดดี้ส้ม" ย้ำ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้อยู่ได้ด้วยการบ่อนทำลายหลักการพื้นฐาน-สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ ปชช. แต่ ต้องโอบรับความคิดเห็นที่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ
วันนี้ (2ส.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
โดยนายพิธา กล่าวในภายย่อยถึงเส้นแบ่งระหว่างคดีของพรรคก้าวไกลกับคดีของพรรคอื่นๆ ที่ถูกยุบมาในอดีต ซึ่งคือระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอง ที่ผ่านเป็นระเบียบกฎหมายเมื่อเดือน ก.พ. 2566 ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่, พรรคไทยรักษาชาติ, พรรคไทยรักไทย หรือย้อนไปนานกว่านั้น ซึ่งไม่มีระเบียบข้อบังคับกฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานของการยุบพรรค แต่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้น
นายพิธา กล่าวในภาพใหญ่ว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิ์ไปทั้งหมด 249 คนเป็นอย่างน้อย แต่มีอยู่หนึ่งพรรคที่รอดและถูกยกคำร้องเมื่อปี 2553 หรือ 14 ที่แล้ว เนื่องจากกระบวนการคำร้องมิชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนพรรคการเมืองในตอนนั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการ
นายพิธา กล่าวต่อว่า กระบวนการในการพิจารณายุบพรรคที่ กกต. ไม่ได้ทำตาม ทำให้ตนไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อกล่าวหา ไม่มีโอกาสต่อสู้ ไม่มีโอกาสอธิบายให้ กกต.ฟัง และเป็นโอกาสที่ตนเสียไป ตนเชื่อเหลือเกินว่า ถ้า กกต. ทำตามระเบียบที่ตัวเองออกมาเอง ตนจะมีโอกาสได้อธิบายให้ กกต.เข้าใจ รวมถึงพยานหลักฐานหลายๆ ชิ้นที่เราได้มีโอกาสตรวจสอบร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เห็นภาพ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบคดี ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอยู่เป็นจำนวนมาก
นายพิธา กล่าวถึงการอ้างอิงในข้อต่อสู้ของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีรูปแบบวาจาก็จริง แต่เป็นในแบบลายลักษณ์อักษร ซึ่ง ศ.ดร.สุรพล ได้เขียนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงถึงกระบวนการคณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) หรือชื่อเต็มว่า "คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย" (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีการรับรองแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ทั้ง 7 ข้อ
นายพิธา ย้ำว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบที่ดูจะย้อนแย้งกัน 2 ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้
นายพิธา ชี้ว่า การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายพิธา ย้ำว่า แน่นอนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม
นายพิธา ย้อนไปว่า ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัวจนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว แตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่า และเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน
ดังนั้น การปกปักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง หรือการกดปราบในนามของกฎหมาย แต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน
ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ในการสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้อง หรือพรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพ และความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย
"ในฐานะผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้าม การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก และจักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ"นายพิธากล่าว