กสม.ชงแก้ กม.ให้ผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากลผู้เสพ คือ ผู้ป่วย
วันนี้ (2 ส.ค) นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง เมื่อเดือน ม.ค. 67 ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ออกประกาศเรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ขัดหรือแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชน และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และกรณีหน่วยงานของรัฐบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าติดยาเสพติด ต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย
กสม. ได้พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นยาเสพติด และการประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีกฎกระทรวงการดำเนินการเพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2565 ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการนำตัวผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพให้อยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพหรือไม่ ไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ กฎกระทรวงข้อ 16 วรรคสอง ให้ใช้สถานที่ดูแลเป็นการชั่วคราวในสถานที่ราชการหรือสถานที่อื่นใดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นสมควร มีลักษณะเปิดกว้างในการให้ดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. เรื่อง กำหนดแบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกาย การตรวจสอบพฤติการณ์และสอบถามความสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 แบบบันทึกการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดฯ หรือ แบบ ปยส. 115 มีข้อความว่า “กรณีที่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา หลบหนี หรือไม่ได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจนเป็นที่น่าพอใจ หากเจ้าพนักงานตรวจพบว่าเสพหรือครอบครองเพื่อเสพอีก จะไม่สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในครั้งต่อไปได้และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” เป็นการจำกัดสิทธิในการเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ในครั้งต่อไป ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ให้ถือว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และให้บำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อนำผู้เสพหรือผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กรณีเคยถูกตรวจพบและสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษามาก่อน แต่ไม่ให้ความร่วมมือหรือหลบหนี ให้ถือว่ามีพฤติกรรมต้องห้ามและให้ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เป็นการจำกัดสิทธิการเข้ารับการบำบัดรักษา และเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาวะและภาวะพึ่งพิงยาเสพติด อันไม่สอดคล้องกับกติกา ICESCR และมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ การกำหนดให้การมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งแม้มีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดในบทสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวง แต่หากผู้กระทำความผิดนั้นมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานรวมถึงประวัติในการกระทำความผิดว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ต้องถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ใช่ฐานครอบครองเพื่อเสพ ต้องนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีเป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานเกินสมควรโดยยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับ อีกทั้งการดูพยานหลักฐานและประวัติในการกระทำความผิด ถือเป็นการตีตราผู้ที่กระทำความผิดมาก่อนว่าต้องเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ อันไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
กสม.จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
1. ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขมาตรา 115(6) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำเป็นต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ให้กำหนดแนวปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ให้ชัดเจนว่า กรณีใดต้องให้บุคคลอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราว และสถานที่ซึ่งใช้ดูแลเป็นการชั่วคราวตั้งอยู่ที่ใดบ้าง รวมทั้งต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด และกำหนดมาตรการให้มีหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานอื่นควบคุม หรือถ่วงดุล เพื่อตรวจสอบและป้องกันการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน
นอกจากนี้ ให้หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปลี่ยนมาตรการลงโทษเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นการใช้นโยบายที่มีพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสาธารณสุข หรือพิจารณาส่งเสริมบทบาทของสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชนให้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ส่วนกรณีที่ผู้ต้องสงสัยว่าเสพ หรือครอบครองเพื่อเสพยืนยันว่าไม่เข้ารับการบำบัดรักษา หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายควรนำมาตรการทางปกครองหรือมาตรการทางเลือกที่เหมาะสมมาใช้แทนการลงโทษทางอาญา เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
2. ให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ตัดข้อความแบบ ปยส. 115 ที่เป็นการตัดสิทธิของผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพในการเข้ารับการบำบัดรักษา ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้พิจารณาเพิ่มข้อความแบบ ปยส. 115 การนัดหมายกรณีไม่สามารถส่งตัวไปคัดกรองยังสถานพยาบาลยาเสพติด/ศูนย์คัดกรอง เป็น “กรณีไม่มารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด โดยไม่มีเหตุจำเป็น และไม่มีเหตุผลอันสมควรจะถือว่าไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย...” เพื่อให้ผู้ถูกจับกุมและประสงค์จะเข้ารับการบำบัดรักษา แต่มีเหตุจำเป็นและเหตุผลอันสมควรที่ไม่อาจมารายงานตัวและรับการคัดกรองในวันและเวลาที่กำหนด มีโอกาสในการเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป
รวมทั้งให้แก้ไขแนวปฏิบัติ หัวข้อ การพิจารณาพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเพื่อการดำเนินคดี หรือเพื่อส่งตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษา ให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนว่า “ผู้เสพคือผู้ป่วย” “การลดบทลงโทษทางอาญาของผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด” เพื่อมิให้เป็นการตัดโอกาสการเข้ารับการบำบัดรักษา และลดการตีตราผู้เคยมีประวัติเป็นผู้ขายหรือผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน ทั้งนี้ ให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านการสาธารณสุขและผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายชื่อสถานพยาบาลหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู อันเป็นมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป