ซีพีเอฟ เข้าชี้แจง กมธ. อว. เรื่องโครงการช่วยเหลือกรณีปลาหมอคางดำ ระบุ ไม่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ต้องช่วย ยืนยัน ส่งซากปลาหมอคางดำให้กรมประมงแล้ว จี้ หาต้นตอ เหตุ มีการส่งออกกว่า 3 แสนตัว
วันนี้ (1 ส.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ โดยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า วันนี้ชี้แจงตามที่เคยบอกไปแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม ส่วนโครงการช่วยเหลือ ก็เป็นไปตามโครงการที่กำลังทำอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมาชี้แจงเรื่อง 5 โครงการ และมีอีก 2 สถาบันที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ก็ได้พูดกับคณะกรรมาธิการว่า มี จุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่อยากเข้ามาร่วมโครงการ แต่โครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่สนับสนุนมาตรการของรัฐบาล ซึ่งเราคิดว่าควรมีส่วนช่วย เมื่อมีกระแสเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่นเดียวกับ กรณีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เข้าไปช่วยส่งอาหารไปตามที่ต่าง ๆ หลายล้านกล่อง ก็เป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
นายประสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด 2 ล้านกิโลกรัม สนับสนุนปลา 2 แสนตัว เพื่อช่วยกันกำจัดให้เร็วขึ้น รวมถึงเรื่องย่อยอื่น ๆ และผลงานวิจัยที่สามารถช่วยได้มากน้อยขนาดไหน แล้วเรื่องทำอาหารน่าจะเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ นายประสิทธิ์ ระบุว่า ตนเองพูดมากไม่ได้ บางภาพที่ออกมาก็ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่า เราส่งซากให้กรมประมงไปแล้ว และเราชี้แจงเพียงพอแล้ว ย้ำว่า เราทำตามกระบวนการ ให้เราส่งของไปให้ ก็ติดต่อประสานงานส่งของไปตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟนำปลาหมอคางดำเข้ามา 2,000 ตัว แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 150 เท่า จึงน่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ เราเชื่อมั่นว่า ไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนเกิดจากอะไร ต้องให้คณะกรรมการธิการ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตนเองก็ไม่ทราบนโยบายของทางภาครัฐ และฝากนักข่าวพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้ว เพราะมีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ เป็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่าง ๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม
นายประสิทธิ์ ยืนยันว่า กระบวนการจัดการของบริษัท มีมาตรฐานสูง เรายืนยันกับทางกรมประมงไปแล้วว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นลูกปลาอยู่กับเราแค่ 16 วัน หากใครที่เคยเลี้ยงปลา จะทราบว่าปลาที่นำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อมาถึงสนามบินเหลืออยู่ 600 ตัว และสภาพก็ไม่แข็งแรง ก็แสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือไม่แข็งแรง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเช็คที่สนามบินถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวเลขที่มีการนับกันโดยประมาณการ
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลการนำเข้าปลาหมอคางดำในขณะนั้น ว่า นำเข้าเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์ปลาเป็นคนตอบ ตอนนั้นนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธุ์ที่มหาลัยวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 เกิดเป็นไอเดียในการนำเข้ามา ก็นำมาทดลอง และกระบวนการยุ่งยากกว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากใช้เวลากว่าจะนำเข้า ก็จนถึงปี 2553 เมื่อปลาไม่สมบูรณ์ ก็ปิดโครงการ ในระยะเวลาทั้งหมด 16 วัน ซึ่งการฝังซากปลา ก็ทำตามระบบขั้นตอน ฝังภายในฟาร์ม