สภาเดินหน้าถกงบเติมเงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต กมธ.ฝั่งเสียงข้างน้อย แฉเอกสาร จาก "คลัง" ประเมินโครงการหลังประเมินใหม่ ทำเศรษฐกิจโต 0.9% ไม่ตรงกับรัฐบาลแถลงจะโต 1.8%
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.40 น. มีการประชุมสภา โดยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เป็นประธานประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ
นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ในฐานะประธาน กมธ. เสนอร่างดังกล่าวว่าคณะ กมธ. วิสามัญได้ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและประชาชน ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลใช้งบประมาณด้วยความคุ้มค่า กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดูแลให้มีมาตรการกำกับดูแลให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของโครงการ รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกผู้แปรญัตติขอสวงนความเห็น อภิปรายเป็นแบบรายมาตราโดยกมธ.ไม่มีการแก้ไข แต่มีกมธ.จากฝ่ายค้านที่เสนอความเห็นให้ปรับลด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณาของกมธ.ฯ ไม่พบการแก้ไขในรายละเอียดของมาตราใดๆ แต่มีกมธ.ที่สงวนความเห็นไว้ทั้งสิ้น 7 คน และสส.ที่แปรญัตติรวม 22 คน ซึ่งการอภิปรายรายมาตรา3 ว่าด้วย การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าในส่วนของการประเมินผลกระทบในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จับโป๊ะได้ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เมื่อ 30 ก.ค. ได้ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงการคลัง ถึงสาเหตุของการประเมินผลกระทบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กลับไปอยู่ที่ 1.2% - 1.8% ซึ่งผู้แทนกระทรวงการคลังชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ตัวเลขดังกล่าวขึ้นกับ 4 เงื่อนไข คือ แหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขของโครงการ จำนวนผู้เข้าร่วม และพฤติกรรมการใช้จ่าย
นายสิทธิพล กล่าวด้วยว่าประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ แหล่งที่มาของเงินที่คำนวณ มาจากเงินอัดฉีดใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากการนำเงินที่ใช้จ่ายภายใต้ภารกิจอื่น หมายความว่าตัวเลขที่ 1.2%-1/8% เป็นสมมติฐานว่าเป็นเงินใหม่ทั้งหมด ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงมีปัญหา 2เรื่อง คือ แหล่งที่มาของเงิน ที่ชัดเจนแล้วคือไม่ใช่เงินใหม่ทั้งหมด เพราะใช้จากงบเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2568 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน 2.7แสนล้านบาท คิด 60% ของ 4.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1.7แสนล้านบาท เป็นเงินเก่าโยกงบจากโครงการเดิม
นายสิทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาสองตามเอกสาร คือ การขัดกับระหว่างสิ่งที่กระทรวงการคลังชี้แจงในกรรมาธิการ และรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. พบว่า เป็นตัวเลข 1.2%-1.8% เป็นตัวเลขที่ประเมิน 10 เม.ย. ไม่ตรงกับปลัดกระทรวงการคลังและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังให้ข้อมูลกับกมธ. ที่ระบุว่า เดิมผลการประเมินโครงการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.8% แต่จากการประเมินใหม่ผลคือส่งผลคือโครงการส่งผลต่อเศรษฐกิจ 0.9%
“ตามเอกสารทั้ง 2 ฉบับระบุวันที่ 10 เม.ย. แต่ตัวเลขไม่ตรงกัน เพราะฉบับหนึ่งระบุว่า 1.2%-1.8% อีกฉบับ 0.9% ตกลงมีการทบทวนหรือไม่ ทำไมแถลงข่าวล่าสุดจึงไม่บอกตัวเลขกับประชาชน แสดงว่าต้องมีตัวเลขที่ไม่ตรง ทั้งนี้จีดีพีที่บอกว่าจะโต 1.2%-1.8% คำนวณจากวงเงิน 5 แสนล้านบาทและกู้เงินทั้งหมด รวมถึงเงินจาก ธกส. แต่ปัจจุบันวงเงินลดเหลือ 4.7แสนล้านบาท และเม็ดเงินใหม่ไม่เยอะเท่าเดิม ดังนั้นไม่มีทางกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่โฆษณาได้ ทั้งนี้ ได้ถามสภาพัฒนาเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบใหม่หรือไม่ ซึ่งผู้แทนระบุว่า เดิม 0.3% แต่สมมติฐานเม็ดเงินใหม่ต้องกลับไปประเมินใหม่ แต่ผลกระทบจะน้อยลง ซึ่งผมขอให้รัฐบาลชี้แจงตัวเลขดังกล่าว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนเท่าไร คุ้มกับงบประมาณที่ประเทศต้องใช้หรือไม่ ปัญหาตอนนี้คือกลับไปกลับมา แต่ที่แน่ๆ คือ น้อยลง และเสี่ยงไม่คุ้มกับงบประมาณ” นายสิทธิพล อภิปราย