’สามารถ‘ ข้องใจ ทำไม พปชร.เดือดร้อนแทนรัฐบาล-นายกฯ ยันวิจารณ์ในนามส่วนต้ว ไม่ได้ทำพรรคเสียหาย ชี้ หากทำไม่ได้ ก็เขียนในข้อบังคับกำกับไว้
เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แสดงความไม่พอใจต่อการเคลื่อนไหวของตน โดยเตือนหากยังไม่จบ ไม่หยุดการกระทำ จะใช้มติกรรมการบริหารพรรค ขับไล่ออกไป ว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรมาก เพราะไม่ได้ทำอะไรให้พรรคเสียหาย สิ่งที่ตนทำไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็ทำในนามส่วนตัว ตามเสรีภาพบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่เคยใส่เสื้อพรรคพลังประชารัฐไปด่านายกรัฐมนตรี แค่ออกมาพูดแทนประชาชนที่วันนี้กำลังเดือดร้อนเรื่องปากท้อง
“ถ้าท่านนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐา ทวีสิน พูดว่าเสียหาย คุณเศรษฐาก็ฟ้องผมได้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่พูดมาจนถึงปัจจุบัน คุณเศรษฐาไม่เคยฟ้องผมแม้แต่คดีเดียว ไม่เคยมี สส.หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาโต้ตอบผมแม้แต่คนเดียว กลับกันพรรคพลังประชารัฐเดือดร้อนแทนนายกรัฐมนตรี ผมเลยงงว่าพรรคเป็นพรรคลูกไล่ หรือพรรคร่วมรัฐบาล” นายสามารถกล่าว
นายสามารถ กล่าวต่อว่า คำว่าพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคลูกไล่ หรือพรรคสาขา พรรคพลังประชารัฐเรามีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถ้าตนจะเชียร์ให้พลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตนผิดหรือ ตนจะต้องถูกขับออกจากพรรคหรือ
นายสามารถ ยกตัวอย่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่สมาชิกพรรคสามารถด่าหัวหน้าพรรค แต่เมื่อกรรมการบริหารพรรคเปิดข้อบังคับ เพื่อหาวิธีขับสมาชิกพรรคคนนั้นออกจากพรรค จนทุกวันนี้ก็ยังหาไม่ได้ แถมสมาชิกพรรคคนนั้นยังขู่ว่าขับเลยจะได้ฟ้องศาล ตนจึงสงสัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองใช้คนละฉบับหรือไม่
“ผมเชียร์ ผมชมหัวหน้าพรรค เอาคนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค กลับจะถูกให้ขับออกจากพรรค ผมเลยตอบไปว่า ไม่ต้องขับผมหรอกครับ ถ้าขับผมแล้วสสมาชิก 60,000 คน จะเดือดร้อน เพราะถ้าพูดไม่ได้ ต่อไปด่ารัฐบาลไม่ได้ ก็ต้องเขียนข้อบังคับพรรคมาว่า ห้ามพูดถึงรัฐบาล ห้ามโจมตีรัฐบาล ถ้าเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล”
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ตนไม่เคยด่ารัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเลยสักคนเดียว ทั้งๆ ที่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน สุดทน สุดกลั้น แต่เราเข้าใจความเป็นพรรคการเมือง เราต้องให้เกียรติกัน
นายสามารถ ยกตัวอย่าง นายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี หรือนายภูมิธรรม เวชชัย ซึ่งมีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาล ก็ออกมาว่านายเศรษฐา แต่ไม่เคยนายเศรษฐาออกมาตำหนินายภูมิธรรม ไม่เห็นนายภูมิธรรมตำหนินายวรชัย
ส่วนกรณีการคุยกับร้อยเอกธรรมนัสนั้น นายสามารถ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะเรื่องไม่ได้เกิดจากตน แม้จะปรับความเข้าใจกันยากขึ้นก็ไม่เป็นไร เพราะหากร้อยเอกธรรมนัสไม่ด่าตนและตนไม่ด่าร้อยเอกธรรมนัสก็ไม่มีปัญหาอะไร การที่มาชี้แจงในวันนี้ เพราะร้อยเอกธรรมนัสให้เกียรติตนมาก จึงรู้ว่ากระบวนการที่ผ่านมา รู้ตัวผู้กระทำแต่ขอไม่พูดถึง พร้อมอโหสิกรรมให้ แต่วันนี้มาขอโทษตนหน่อยก็ดี อีกทั้งยังไม่เคยเห็นกระบวนการสอบสวนว่าตนมีความผิดแต่อย่างใด ที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่มีเพียงกระแสข่าวออกไป ว่าตนเป็นคนชั่ว คนเลว คนต่ำช้า แล้วมันยุติธรรมหรือไม่ คราวที่แล้วตนนั้นใหม่ทางการเมือง แต่วันนี้ไม่ใหม่แล้วจะไม่ยอมตายคนเดียว และไม่ยอมให้ถูกกระทำฝ่ายเดียว
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเหตุการณ์นี้รู้สึกน้อยใจหรือไม่ นายสามารถย้อนถามผู้สื่อข่าวกลับมาว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะน้อยใจหรือไม่ ขอให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ส่วนเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้มีการหารือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยนั้น นายสามารถ กล่าวว่า ให้เขียนข้อบังคับพรรค อย่างสถาบันทางการเมืองต้องเป็นพื้นที่พูดคุย นำปัญหาของประชาชนมาพูดคุยกัน และกำหนดเป็นนโยบาย หากไม่กล้าวิจารณ์นายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินได้ ใครจะเป็นที่พึ่งของประชาชน
“ขนาดคนในพรรคเพื่อไทยยังวิจารณ์นายกได้ แล้วผมเป็นใคร เป็นแค่สมาชิกพรรคตัวแค่นี้ และเวลาผมวิจารณ์นายกรัฐมนตรีผมก็วิจารณ์ในนามส่วนตัว ดังนั้นจะมาลงโทษผมเรื่องไร” นายสามารถ ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ระหว่างที่นายสามารถให้สัมภาษณ์ ปรากฏว่านายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ และคณะได้ลงมาชั้นล่างพอดี นายอรรถกรได้ทำท่าแบ้ปาก และเอามือวนที่หู ก่อนจะสายหน้าและโบกมือในอาการกวน และช่วงที่นายอรรถกร เดินผ่านวงสัมภาษณ์ไปนั้น ได้กระแอมใส่ด้วย ก่อนจะเดินออกไปทันที