ป.ป.ช.เชื่อคนตื่นตัวทำยอดร้องเรียนการทุจริตเพิ่ม ส่งผลเซฟความเสียหายได้กว่า 3 แสนล. หวังคนไทยร่วมมือปรับความคิด ไม่ยอมรับคนทุจริตได้ลอยหน้าแถมมีคนยกมือไหว้ในสังคม เผยปีหน้า ปรับสูตรประเมิน ITA ใหม่ แยกกลุ่มองค์กรยุติธรรม-บริการ
วันนี้ (30 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และพิธีมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 (ITA DAY 2024 : Transparency with Quality) โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังป.ป.ช. ที่ผ่านมามีทั้งคนที่มาร้องเรียนแต่พอเรียกมาให้ข้อมูลก็ไม่มา หรือไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมอะไรให้ เพราะผู้ร้องมองว่า เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ที่ต้องไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง การตรวจสอบอาจจะยาก แต่ป.ป.ช.ต้องหาข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่ร้องเข้ามาว่ามีมูล มีพยานหลักฐานหรือไม่ หากมีมูลก็จะรับไว้พิจารณาต่อไป
“ที่ผ่านมาเราจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าหน่วยงานไหนถูกร้องเรียนมากที่สุด ร้องเรียนเรื่องอะไร พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ จะถูกร้องเรียนเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการทำผิดหรือทุจริตเยอะ แต่เป็นเพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ มีกฎหมาย ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากเลยมีเรื่องร้องเรียนสูง ”
เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบป้องกันของป.ป.ช.นั้น ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ว่าสามารถระงับความเสียหายของการทุจริตไปได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละโครงการจะมีการตั้งงบฯ และมีการทุจริตที่อาจจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไปคิดตรงนั้นหลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่สำหรับป.ป.ช. เราดูแค่งบประมาณตั้งต้นสำหรับโครงการนั้นๆ รวมๆ แล้วมูลค่าโครงการของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา และป.ป.ช.มีการดำเนินการไปก็ราว 3 แสนล้านบาท แตาไม่อาจบอกได้ว่า การทุจริตลดลงหรือไม่ อย่างที่มีร้องเข้ามากว่า 9 พันเรื่อง เราต้องไปดูด้วยว่า เรื่องร้องเรียนเหตุการณ์ของปีไหน รัฐบาลไหน แต่แนวโน้มการร้องเรียนในปีปัจุบันเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าคนกล้าร้องเรียนมากขึ้น ไม่ได้รอให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังมีการตั้งศูนย์ CDC เพื่อตรวจสอบป้องกันก่อนจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ซึ่งตรวจสอบไปกว่า 1 พันเรื่อง รวมมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เรายับยั้งได้ก่อนทุจริต บางโครงการฝืนทำต่อแต่น้อยและมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินการของเขา แต่ถ้าใครไม่ปรับและฝืนดำเนินการ ก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ไต่สวน ที่สำคัญปีนี้รัฐบาลสนับสนุนเจ้าหน้าที่การข่าว และเจ้าหน้าที่ป้องกัน เป็นร้อยคน
สำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐปีนี้จะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีคะแนนสูงขึ้นประมาณ 91% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 87% อย่างไรก็ตาม แม้เปอร์เซ็นต์เพิ่มสูงขึ้น แต่ยุทธศาสตร์กำหนดไว้ที่ 100% ดังนั้นยังต้องทำงานกันมากขึ้น ล่าสุด ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหารูปแบบการประเมินค่า ITA ใหม่ โดยแยกหน่วยงานยุติธรรม เช่น ศาล ทหาร ตำรวจ กับอีกกลุ่มคือหน่วยงานด้านบริการ เพราะการประเมินโดยใช้ ITA ตัวเดียวรวมทุกหน่วยงานอาจจะสร้างการได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ โดยคาดว่า ตัวประเมินใหม่นี้จะสามารถใช้ได้ในปีหน้า
“เรื่องการทุจริตนี้ ต้องมีการปรับ Mind Set คนเราบางครั้งยอมรับทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์บาง หากยังมีความคิดนี้อยู่ ประเทศชาติก็ไปไหนไม่ได้ การทุจริต คอร์รัปชั่นจะกลายเป็นการยอมรับ ทั้งๆ ที่เราต้องไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย ต้องมาชี้ช่องเบาะแส ออกมาต่อต้าน รณรงค์ หากคนทุจริตยังลอยหน้าลอยตาในสังคม มีคนยกมือไหว้อยู่แบบนี้ไม่ได้ ต้องปรับMind Set ต้องปลูกฝังเยาวชน ซึ่งเรามีหลักสูตรต้านทุจริต ที่ครม.เห็นชอบให้ใช้ในสถานศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำนักงานสถิติได้ทำตัวชี้วัดออกมาพบว่าเยาวชนมีความรู้เพิ่ม 90% มีพฤติกรรมดีขึ้น แยกแยะประโยชน์ส่วนร่วม กับประโยชน์ส่วนตัวได้”
เลขาป.ป.ช. ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของป.ป.ช.ที่ผ่านมา มีความกดดันเพราะประชาชนคาดหวังสูง อยากเห็นเรื่องราวคลี่คลายเร็ว อยากเห็นการชี้ไปทางนั้นทางนี้ แต่ในการทำงานไม่ใช่อย่างนั้น ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน ที่สำคัญเรื่องทุจริต เป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่ป.ป.ช.อย่างเดียว จึงต้องได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน แต่ที่ผ่านมา พอตัวชี้วัดการทุจริตของประเทศตกลง คนจะโทษป.ป.ช.ว่าทำงานไม่ดี ทั้งที่ความจริงแล้วป.ป.ช.ไม่ใช่คนทำทุจริต แต่ปัญหาเกิดจากหน่วยงานภายนอก หรือเอกชนที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทำความผิด แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายบอกว่าเป็นหน้าที่และอำนาจของป.ป.ช.ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นี่คือความคาดหวังของสังคม ซึ่งป.ป.ช.ก็คาดหวังความร่วมมือจากทุกฝ่ายเช่นกัน เพื่อให้ประเทศปลอดทุจริตไปพร้อมๆ กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้าย พิธีกรบนเวทีได้สรุปว่า มีการแจ้งเบาะแสเข้ามายังป.ป.ช.ในปี 2566 จำนวน 245 เพิ่มจากปี 2565 ถึง 3 เท่าตัว.