xs
xsm
sm
md
lg

นยปส.รุ่น15 ถกต้านทุจริตยุคการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล ปปง.ชี้คนโกงอัพเลเวลเลี่ยงกม.แต่ไม่รอด 4 ป.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นยปส.รุ่น15 ถกต้านทุจริตยุคการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล ปปง.เผยคนทุจริตอัพเลเวลเลี่ยงกม. เปิดบัญชีม้า โยกเงิน-ซื้อบ้านตปท.แต่ไม่รอดมือฝีมือ 4 ป. จ่อดึงเงิน 2 คดีใหญ่กลับไทย เร่งแก้กม.ฮั้วประมูลภาครัฐ เป็นความผิดมูลฐาน นักวิชาการ ยกไอเดียsocial credit จีนมาปรับใช้ ปปช.ชี้ราชการตรวจสอบซ้ำซ้อน เชื่อแชร์ข้อมูลใช้ data ให้เป็นประโยชน์จะต้านอิทธิพลได้

วันนี้ (26ก.ค.) นักศึกษาโครงการนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง(นยปส.)รุ่น 15 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสวนาวิชาการ เรื่อง Anti-corruption in Digital Disruption Era การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล
นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวตอนหนึ่ง ว่า หน้าที่ของปปง. มี 2 ด้าน 1. ทำหน้าที่กำกับผู้มีหน้าที่ต้องรายงาน และ2. ดำเนินการทางด้านทรัพย์สินกับผู้กระทำผิดมูลฐาน ซึ่งรวมถึงมูลฐานการทำผิดต่อหน้าที่ด้วย ในส่วนนี้มีหน่วยงานที่ดูแลอยู่เรียกว่า 4 ป. ประกอบด้วย ปปง. , กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) และ ปปช. หากทั้ง 4 ป. ทำงานร่วมกันเชื่อว่าคนทำผิดไม่รอดแน่ เพราะกฎหมายของแต่ละหน่วยงานออกมาเพื่ออุดช่องโหว่ของกันและกัน แต่ปัญหาคือไม่มีข้อมูลกลาง ไม่มีการแชร์ข้อมูลกัน ซึ่งในส่วนของปปง.ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่น้อยการดำเนินงานจึงต้องใช้เวลานาน

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนทำคดีจะพบวิวัฒนาการของคนกระทำความผิดมีการเปลี่ยนแปลงมาก ตั้งแต่ปปง.เมื่อปี 2542 ก่อนหน้านี้ยึดทรัพย์ได้เยอะมาก เพราะกฎหมายที่เพิ่งตั้งใหม่ คนกระทำความผิดยังไม่มีช่องทางหลบเลี่ยง แต่หลังปี 2560 เป็นต้นมา เขาเริ่มมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เริ่มมีคนรู้กฎหมายมากขึ้น หน่วยงานจำเป็นจะต้องไล่ตาม โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นสังคมดิจิทัลยิ่งมีความยากในการไล่ตาม แต่ไม่ได้เกินความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ป. จุดสำคัญ คือเรื่องข้อมูลเราจะต้องบูรณาการข้อมูลกัน

“เราไม่สงสัยหรือว่า เหตุใดจึงมีทนายความเอาหลักฐานมายื่นต่อหน่วยงานใดก็ตามว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีบ้านพักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อยู่สหรัฐอเมริกา ที่จริงเวทีนี้ตนยังเสียดายเราน่าจะเชิญทนายความท่านนั้นเล่าให้ฟังว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร ในเมื่อหน่วยงานราชการยังหาไม่ได้ เอามาไม่ได้ ล่าสุดมีเอ็นจีโอไปได้ข้อมูลมาอีก คนกลุ่มนี้เขาไปเอาข้อมูลมาได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุด การทุจริตปัจจุบันนี้ไม่ได้จ่ายเงินในประเทศ แต่มีการใช้บัญชีม้า ซึ่งปปง.พยายามปิดบัญชีนั้น เขาก็ไปจ่ายกันที่ต่างประเทศ เช่น พิธีกรซื้อบ้านให้ผมที่ประเทศอังกฤษ แล้วผมค่อยเข้าไปอยู่” นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ปปง. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามล่าสุด ปปง.ร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สามารถติดตามทรัพย์สิน ติดตามเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในประเทศไทยแล้วโยกเงินนั้นไปไว้ที่สหพันธ์รัฐสวิสกลับมาได้ ซึ่งเป็นคดีการกระทำผิดมูลฐานเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ประเทศต้นทางหักไปครึ่งหนึ่ง เราได้กลับมา 70 ล้านบาท ก็ยังดีนี่นำเงินกลับมาได้ นับเป็นคดีแรกของไทย ที่นำเงินนำเงินกลับมาได้ และขณะนี้ยังมีอีก 2 คดี ที่ปปง.กำลังกำลังจะเอาเงินที่ได้จากการกระทำผิดภายในประเทศไปไว้ในต่างประเทศ กลับมา คือคดีของอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยว และคดีหุ้นบริษัทสตาร์ค (STARK)

“แต่การทำงานกับแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์ จะต้องการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ใครก็ตามที่คิดจะทุจริตแล้วเอาเงินไปไว้ต่างประเทศ สักวันหนึ่ง เราสามารถเอาเงินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ แล้วต่างประเทศเป็นข้อมูลเปิดด้วยซ้ำไป แค่กรอกข้อมูลเข้าไปก็จะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ในต่างประเทศ แต่เรายังไม่สามารถจูนได้ซึ่งเราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันไปในยุคดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ปปง.มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลจะต้องมีการรายงาน เข้ามาซึ่งจะทำคล้ายๆ โมเดลของธนาคาร”

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า คดีล่าสุดที่ต้องยกตัวอย่างคือ กรณีเจ้าหน้าที่กทม. ที่มีการทุจริตเมื่อปี 2561 แต่ปปง.สามารถสืบพยานหลักฐานจนออกหมายจับได้ในปี 2567 ได้ก็มาจากการบูรณาการ ของ 4 ป. แต่สิ่งสำคัญคือต้องได้เบาะแสจากผู้ให้ด้วย เรื่องนี้เกิดจากการที่เขาถูกหลอกเลยไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ถ้าเขาไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษก็ไม่มีใครรู้ จะเป็นการสมยอมกันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่สามารถรู้ได้

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ ข้อมูลสังเคราะห์ข้อมูลคดีที่พบมากที่สุดคือการฮั้วประมูล แต่การฮั้วประมูลยังไม่เป็นความผิดมูลฐาน เราจึงต้องไปอ้างเรื่องของ อั้งยี่ ซ่องโจร ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างแก้กฎหมายเพิ่มมูลฐานว่า การฮั้วประมูลในหน่วยงานของรัฐเป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งผ่านกฤษฎีกา แล้วปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณานำเข้าสภาต่อไป หากกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้คิดว่าสนุกแน่ เพราะเราเห็นอยู่ว่าหน่วยงานต่างๆ มีการฮั้วประมูล เป็นเรื่องใหญ่ ถนนหนทางทำไมซ่อมแล้วซ่อมอีก ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดคนไทยรู้กันหมด ดังนั้นจึงฝากไว้ แม้ว่าอาชญากรจะเป็นอย่างไรก็สุด แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่เหนือกว่าเรา เพียงแต่เราต้องมาบูรณาการกัน อย่างน้อย 4 ป. ร่วมมือกันเมื่อไหร่ไม่รอดหรอก ขอฝากเอาไว้.

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณะบดีด้านวิชาการคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าขณะนี้มี 2 เรื่องคือ 1 ในยุคเทคโนโลยีดิจิตอลมี ความท้าทายใหม่ๆอะไรบ้างในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างไร 2.มีโอกาสอะไรบ้างที่เราจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานทั้งเชิงรุกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐซึ่งในรายงานที่นยปส.ทำ สามารถอธิบายทั้ง 2 เรื่องไว้ได้ดี แต่อยากจะเน้น 3 ประเด็นคือควรมีการให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายโดยควรมีการพัฒนาดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและความสามารถที่ยกระดับประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ตัวอย่างประเทศจีน นอกจากจะให้ความสำคัญระบบปราบปรามการทุจริตแล้ว ยังให้ความสำคัญกับกลไกบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีการ วิเคราะห์ ว่าดำเนินการอย่างไรในเชิงระบบราชการ หรือ ระบบกลไก หรือ เชิงประสานงานได้บ้าง โดย เฉพาะกฎหมาย กฎเกณฑ์ การ ปฏิรูป ซึ่งควรพูดถึงประสิทธิภาพ การบังคับใช้ด้วย

นอกจากนี้กรณี social credit ที่ใช้อยู่ในประเทศจีน จะสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศเสรีประชาธิปไตยได้อย่างไรบ้าง ระบบนี้ที่จีนยังเป็นระยะ ทดลองใช้ ซึ่งจะนำมาใช้ปราบคอรัปชั่นในส่วนของประชาชนโดยให้เป็นคะแนนจิตพิสัย เช่นหากไม่จ่ายเงินค่าปรับ ก็จะส่งผลเรื่องการได้รับความสะดวกเมื่อขึ้นรถไฟฟ้า หรือการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานการปกครอง การเข้าใช้บริการพักโรงแรม การขอรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆตลอดจนลูกจะไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้

ซึ่งในส่วนรายงานของนักศึกษาก็มีการเสนอในลักษณะการให้รางวัลหรือผลประโยชน์กับหน่วยงานเอกชนที่มีส่วนร่วมในการปราบปรามการทุจริตอย่างไรเช่นการ ได้รับความสะดวกทำธุรกิจ แต่อยากให้มีการคิดเพิ่มว่าในส่วนของระดับบุคคลหรือส่วนราชการในส่วนของไอเดียsocial credit ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งไม่เพียงในเรื่องของการให้รางวัลแต่ควรจะมีมาตรฐานแต่ควรมีเรื่องของมาตรการในการลงโทษด้วย สุดท้ายที่เห็นว่าสำคัญที่สุดในยุคดิจิตอลคือเรื่องของ data trans currency ว่าเราจะรู้ข้อมูลต่างๆมันเชื่อมโยงกันอย่างไร โปร่งใสอย่างไร ซึ่งในภาคปฏิบัติมีเรื่องเชิงระบบและข้อติดขัดในการที่จะเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆเข้าด้วยกัน แต่ในยุคดิจิตอลที่มีเครื่องมือต่างๆ จะสามารถช่วยให้การดำเนินการในส่วนนี้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในตอนท้ายว่า คิดว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอความสำคัญของงานด้านการตรวจสอบของป.ป.ชคือความถูกต้องเป็นธรรมสำคัญที่สุด ข้อมูลที่เราแสวงหาได้ถูกต้องและความโปร่งใสสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้งานของเราสามารถต้านทานกับอิทธิพลได้ เพราะงานของป.ปชเกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการต่างๆ ดังนั้น big data และการแชร์ข้อมูลต่างๆ เป็นประโยชน์มาก แต่ปัญหาของระบบราชการไทยตอนนี้คิดว่า เรามีหน่วยตรวจสอบมาก ไม่มีเอกภาพในการทำงาน บางทีก็ซ้ำซ้อนกัน ขาดความจำเป็นที่จะต้องมีหลายๆหน่วยงาน ซึ่งจริงๆแล้วในยุคปัจจุบันถ้าทั้งหมดเป็นด้วยระบบมีการแชร์และ ข้อมูลและใช้ data ให้เป็นประโยชน์ก็จะทำให้การทำงานของเรามีความโปร่งใสและสามารถต้านทานกับอิทธิพลต่างๆได้เป็นอย่างดี ข้อเสนอต่างๆ รวมถึงสิ่งที่เสนอว่าให้นำนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในการตรวจสอบถือว่าเป็นประโยชน์ที่ทางป.ป.ช.จะรับไปรีบดำเนินการ เชื่อว่าสิ่งนี้จะสามารถทำให้การทำงานของเรามีคุณภาพได้รับการยอมรับ ถ้าบ้านเมืองเราโปร่งใส มันไม่มีคอร์ส เพราะทุกอย่างของการทุจริตมันก็เป็นสินบนถ้ามันเป็นสินบนแล้วทุกอย่างมันก็เป็นคอร์สที่เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้เรามีปัญหาในการที่เราจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆในประเทศที่เขาจะต้องลงทุนในบ้านเราถ้ามีคอร์สที่เพิ่มสูงขึ้นมันก็ทำให้กำไรน้อยลง มันก็จะทำให้การแข่งขันในบ้านเรามันด้อยลงไปอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น