เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเล เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นหญ้าทะเล ปะการัง พื้นที่ชายฝั่ง สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนสัตว์ทะเลหายากที่นับวันใกล้สูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย จึงมอบหมายให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก
ในการนี้ ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของกรม ทช. เร่งลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ออกสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน อาทิ จังหวัดสตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง ด้วยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้อากาศยานปีกตรึง 9 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect ระหว่างเดือน มิ.ย. – ก.ค. พื้นที่จังหวัดกระบี่ อ่าวนาง อ่าวท่าเลน อ่าวน้ำเมา เกาะลันตา เกาะศรีบอยา เกาะจำเกาะปู และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดกระบี่ สำรวจพบพะยูน จำนวน 26 ตัว เป็นพะยูนคู่แม่ลูกอย่างน้อย จำนวน 1 คู่ เต่าทะเล จำนวน 31 ตัว และโลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 1 ตัว พื้นที่จังหวัดพังงา อ่าวพังงา เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ ปากคลองมะรุ่ย เกาะหมากน้อย หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง พื้นที่จังหวัดภูเก็ต อ่าวป่าคลอก อ่าวมะขาม แหลมพันวา พื้นที่จังหวัดระนอง หมู่เกาะช้าง เกาะพยาม เกาะกำน้อยและเกาะกำใหญ่ สำรวจพบพะยูน จำนวน 10 ตัว เต่าทะเล จำนวน 21 ตัว โลมาหัวบาตรหลังเรียบ จำนวน 6 ตัว โลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 1 ตัว และพื้นที่จังหวัดสตูล เกาะลิดี เกาะตันหยงอุมา เกาะสาหร่าย และหมู่เกาะใกล้เคียงพื้นที่จังหวัดสตูล สำรวจพบ พะยูน จำนวน 3 ตัว เต่าทะเล จำนวน 3 ตัว โลมาหลังโหนก จำนวน 6 ตัว และโลมาไม่ทราบชนิด จำนวน 7 ตัว
"อย่างไรก็ตาม กรม ทช. ได้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตามข้อสั่งการของ รมว.ทส. เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมของทุกกระบวนการ ทั้งการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบ รวมถึงการใส่ใจ ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชุมชนชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบต่างๆ ในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งลำพังเจ้าหน้าที่กรม ทช. มีไม่เพียงพอต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ดังนั้น หากพบการกระทำผิดกฎหมาย บุกรุก ทำลายทรัพยากรทางทะเล หรือพบเจอสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งมีชีวิตและตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรม ทช. ในพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที หรือแจ้งมาที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย