xs
xsm
sm
md
lg

‘วิษณุ’ ห่วงสังคมไทยชินทุจริต “เม้ม รีดไถ" แลกความสะดวก ซ้ำโยนภาระป้องกันปราบปรามเป็นของผู้อื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘วิษณุ’ ห่วงสังคมไทยชินการทุจริต “เม้ม รีดไถ" แลกความสะดวก ซ้ำโยนการตรวจป้องกัน ปราบปรามเป็นของผู้อื่น ไม่คิดตัวเองต้องมีส่วนร่วม เผยกฤษฎีกาเร่งตรวจร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกและบริการประชาชนฉบับใหม่ ปราบโกงยุคดิจิทัล คาดได้ใช้ปี 68

วันนี้( 26 ก.ค.)ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 15 จัดกิจกรรมสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกง ในยุค Digital Disruption” นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ บรรยายพิเศษเรื่อง "การป้องกันการทุจริตภาครัฐยุค Digital Disruption "ตอนหนึ่งว่า หลักสูตรฯ ต้องการสร้างการรับรู้ของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป ให้รู้ว่าการทุจริตในวงราชการมีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โครงการหลายอย่างไม่สำเร็จ หลายโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นคำที่เกิดใหม่ ในอดีตจะใช้คำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัจจุบันคำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงอาจไมค่อยมีแล้ว แต่พบว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายมากขึ้น อาทิ การยักยอกทรัพย์ รีดใต้โต๊ะ บนโต๊ะ เรียกค่าคุ้มครอง ค่าปิดปาก ค่าอำนวยความสะดวก การทุจริต การเม้มเงินหลวงมาเป็นของตนเอง เรื่องนี้มีประวัติยาวนาน จนคนชินกับการเม้ม ชินกับการเรียก รับ ให้มาเป็นเวลานาน การจะมาห้าม ก็ห้ามยาก เพราะเห็นว่า ทำได้ ไม่รู้สึกว่าผิดบาป

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรมของพระราชาที่นำมาใช้กับวงราชการ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ เป็นหนึ่งในหลักนิติธรรม เป็นหนึ่งในธรรมาภิบาลการบริหารบ้านเมือง คือเน้นเปิดเผย โปร่งใส รับผิด รับชอบ นอกจากนี้ยังเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะประเทศจะพัฒนาไม่ได้ หากมีทุจริต งบประมาณที่ตั้งขึ้นมาถูกหัก 5% 10% หรือบางครั้งมีการไปเรียกรับจากประชาชน ผู้รับเหมา พอเขาไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขึ้นราคาข้าวของ ดังนั้นการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะละเลยไม่ได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ แค่ปรับทัศนคติ ยึดมั่นกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

“นี่เป็นข้อหาอาญาที่ผ่านมาคนมักนึกว่าเป็นหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ช. หรือป.ป.ท. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปคือนึกถึงคนอื่นทั้งนั้นที่จะมาปราบปรามการทุจริต แต่ลืมนึกไปว่า เราที่เป็นประชาชนเป็นองค์ประกอบในการป้องกัน เวลาทุจริตส่วนหนึ่งประชาชนก็เป็นคนเสนอ เป็นคนให้ และเป็นคนเก็บงำเรื่องนี้ไม่บอกใคร” นายวิษณุ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาพอประชาชนร้องหรือฟ้องร้องก็ถูกฟ้องกลับเป็นการปิดปาก ทำให้ประชาชนไม่พูดดีกว่า ซึ่งวันนี้ต้องมีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการอนุญาต อนุมัต ของราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ซึ่งถ้าเป็นยามปกติกฎหมายนี้ไม่สามารถจะออกมาได้ โดยกฎหมายนี้กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องออกคู่มือในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตจะต้องติดต่อใคร มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และจะใช้เวลาในการดำเนินการเท่าไหร่ เพื่อปิดช่องว่างการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทุจริตเรียกรับเงิน เช่น หากขออนุญาตตั้งโรงงาน บางคนใช้เวลา 2 ปี บางคนจ่ายเงินก็ใช้เวลาพิจารณาพียง 2 เดือน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวก ดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายนี้กำหนดให้ต้องกำหนดเวลา หากทำไม่เสร็จตามกำหนด เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ประชาชนสามารถฟ้องร้อง หรือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา แต่ปัญหาคือทุกหน่วยงานทำคู่มือเหล่านี้แล้วแต่เก็บใส่ตู้ ลั่นกุญแจไว้ ประชาชนเลยไม่ทราบ ติดต่อราชการก็เลยยังใช้เวลานานเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะเกิดนวัตกรรมใหม่ คือรัฐบาลได้รับหลักการร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต การให้บริการประชาชน เป็นการยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับปี 2558 มาเป็นฉบับปี 2568 ซึ่งที่แตกต่างกันคือมีการขยายไปถึงการให้การบริการ เช่น ขอติดตั้งประปา ไฟฟ้า ขอเงินสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยง อย่างที่เราเคยได้ยืนว่ามีการเม้ม มีการจ่ายช้า จากนี้จะมาเจออภินิหารของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฏหมายสำคัญ หากเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนจะมีโทษ ผิดจริยธรรมรร้ายแรง ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในชั้นกฤษฎีกา ชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีตนและอีกหลายคนเป็นกรรมการร่วมกันตรวจอยู่ขณะนี้ พิจารณาไปได้กว่าครึ่งหนึ่งแล้ว หากเสร็จก็จะเสนอสภา และจะใช้ในต้นปี 2568 สาระหลักมีการกำหนดละเอียดยิบในการทำคู่มือ มีการจัดทำศูนย์บริการร่วมแบบเบ้ดเสร็จ หากการขออนุญาตทำสิ่งใดแล้วจำเป็นต้องขออนุญาตหลายใบ จากหลายหน่วยงานก็ให้ประชาชนดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานเดียว แล้วหน่วยงานนั้นจะไปดำเนินการต่อนส่วนที่เหลือเอง ที่สำคัญคือ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทุกขึ้นตอนเพื่อลดการเผชิญหน้าของประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ลดโอกาสเรียกงินใต้โต๊ะ แต่จะสำเร็จได้ก็ต้องร่วมมือกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น