ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ ความจริงปิดไม่ลับ ผงะมี 11บริษัทส่งออก ทั้งที่ห้ามนำเข้า อีกปมที่มา "ปลาหมอคางดำ" ระบาด !?
ที่มาของปลาหมอคางดำ ยังเป็นประเด็นดรามาที่ถกเถียงกันหน้าดำ หน้าแดง
ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่พันธุ์เร็วจนหวาดหวั่นว่าจะทำลายล้างระบบนิเวศน์ ก่อความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชนิดน้ำตาตกกันหลายพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
บ้างก็ว่า มาจากบริษัทยักษ์ใหญ่นำเข้ามาวิจัย บ้างก็ว่ามาจากกลุ่มผู้นำเข้าปลาสวยงาม แล้วเกิดทิ้งๆ ขว้างๆ หลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
เหล่านี้ มีคำถามว่า นอกจากบริษัทCPF ที่โดนทัวร์ลง ยังมีใครที่นำเข้ามาหรือไม่?! และมายังไง!?
เพราะ ปลาชนิดนี้เป็นปลาต้องห้ามนำเข้า แล้วปลามาจากไหน? แสดงว่ามีการลักลอบนำเข้า ใช่หรือไม่? และมีหน่วยงานใดที่รู้เห็นหรือไม่ ?
งานนี้ ปิดกันไม่ลับ เพราะมีข้อมูลและสถิติที่น่าตกใจก็คือ ที่ผ่านมาสิบกว่าปี นอกจาก CPF แล้ว ไม่เคยมีใครขออนุญาตนำเข้า “ปลาหมอคางดำ”เลย แต่กลับมีถึง 11 บริษัท ที่ขออนุญาตส่งออก!?!
ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า ในช่วงปี 2556-2559 ปลาหมอคางดำ โดย11บริษัทนี้ ส่งออกไปจำหน่ายยัง 17 ประเทศ รวมกว่า 230,000 ตัว
โดยจากข้อมูลกรมประมง พบว่าบริษัทที่ส่งออก โดยปลาหมอคางดำมากเรียงตามลำดับจำนวนส่งออกมากไปหาน้อย ดังนี้ คือ หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์ ส่งออก 162,000 ตัว, หจก.ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต 30,000 ตัว, บ.นิว วาไรตี้ 29,000 ตัว, บ.พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง 3,638 ตัว , บ.ไทย เฉียน หวู่ 2,900 ตัว , ส่วนอีก 6 บริษัท นั้นส่งออกหลักร้อยตัว
น่าประหลาดใจว่า “บัญชา สุขแก้ว” อธิบดีกรมประมง กลับให้ข้อมูลกับ คณะอนุกรรมาธิการฯ ว่า จากการตรวจสอบ บริษัทผู้ส่งออกทั้ง 11 ราย พบว่าในเอกสารส่งออกระบุว่า ปลาที่ส่งออก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซาโรเทอโรดอน เมลาโนเทอรอน (Sarotherodon melanotheron) ชื่อสามัญว่า แบล็กชิน ทิลาเพีย (Blackchin tilapia) หรือ ชื่อภาษาไทยว่า “ปลาหมอเทศข้างลาย”
แปลไทยเป็นไทย คือ ไม่ใช่หมอคางดำ!
อธิบดีกรมประมงบอกด้วยว่า ที่เข้าใจว่าเป็นปลาหมอคางดำ น่าจะเป็นความผิดพลาดจากการ "กรอกข้อมูล" ของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งที่ส่งออก ใส่ชื่อ วิทยาศาสตร์ และชื่อ สามัญ ของปลาหมอเทศข้างลายผิด?
คำถามมีว่า กรอกผิดทั้ง 11บริษัท และกรอกผิดมาตลอด 4 ปี กระนั้นหรือ !? โดยที่กรมประมง ไม่เอะใจตรวจสอบเลยหรือว่า เป็นปลาต่างถิ่น ห้ามเพาะเลี้ยง ห้ามนำเข้า แต่มียอดส่งออกได้อย่างไร?
งานนี้กลิ่นทะแม่งๆ เพราะเมื่อปลาหมอคางดำแพร่ระบาดหนัก การโยนขี้ให้บริษัทเอกชนเพียงเจ้าเดียวนั้นง่ายเกินไป อาจจะมีเงื่อนงำปกปิดไว้ หรือไม่
ตัวเลข และสถิติเรื่องการส่งออก “ปลาหมอสีคางดำ” ออกมาชัดเจนว่า มีการส่งออกหลายบริษัทต่อเนื่องหลายปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในประเทศนอกจากบริษัทอย่าง CPF ที่เคยนำเข้ามาแบบสั้นๆ และยกเลิกไปเมื่อ 18 ปีก่อนแล้ว บริษัทรายเล็กรายน้อยอื่นๆ โดยเฉพาะในแวดวงผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ย่อมมีการเพาะเลี้ยงกันในวงกว้าง และย่อมมีการหลุดลอดออกไปในธรรมชาติอย่างแน่นอน
++ ป.ป.ช.สั่งเลื่อนชี้มูล เชื่อเซียนพระช่วยแต่งบัญชีฟอกขาว“โจ๊ก”
ตอนนี้ สำนวนคดีของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. นอกจากเรื่องส่วยเว็บพนันออนไลน์ ฟอกเงิน แล้วยังมีเรื่อง แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ด้วย
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ “บิ๊กโจ๊ก” ได้ทยอยส่งสำนวนคดี ในข้อหาการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ไปยังสำนักงานป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบในเชิงลึก
แต่เวลานี้เรื่องกลับเงียบหายไป ไม่มีการรายงานความคืบหน้าของการตรวจสอบแต่อย่างใด
โดยมีรายงานออกมาว่า เดิมมีการเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาชี้มูล แต่กลับถูก “สั่งเลื่อน” ออกไปอย่างน่าสงสัย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบพบว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะการซื้อปืนมาสะสมจำนวนมาก ถึง 200 กว่ากระบอก
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อในนามส่วนตัว หรือผ่านบุคคลอื่น รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนี้ การตรวจสอบยังพบอีกว่า มียอดทรัพย์สินที่ถูกตกแต่งใหม่มากถึง 13 ล้านบาท
การสลับสับเปลี่ยนตัวเลขในบัญชี ดำเนินการผ่านการสร้างที่มาของรายได้เทียม เพื่อยื่นต่อป.ป.ช. โดยได้รับคำแนะนำจาก อดีตอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหา ประจำสำนักการไต่สวนทุจริตภาครัฐ 1 ที่ทำงานเป็นคณะอนุฯ มาตั้งแต่สมัย “พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง” และ “นางสาวสุภา ปิยะจิตติ” โดยมีการแต่งเรื่องอันเป็นที่มาของ “เงินงอก” ว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ได้แนะนำเซียนพระ “อั๊ง เมืองชล” ให้ไปซื้อพระยอดนิยม พระราคาแพง จากอดีตผู้ว่าฯสมพร
แล้ว “อั๊ง เมืองชล” ก็ตอบแทน “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ด้วยการให้ค่านายหน้า ที่แนะนำให้ “อั๊ง” สามารถซื้อพระได้ในราคาดีๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีซื้อการขายจริงแต่ประการใด
โดยวิธีการเช่าซื้อพระ และการให้ค่านายหน้านั้น “เซียนอั๊ง” บอกกับป.ป.ช.ว่า พระราคา 10 ล้าน แต่ อั๊ง ซื้อได้ในราคาแค่ 5 ล้านบาท จึงตอบแทนค่านายหน้าให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ 4 ล้านบาท
คำชี้แจงดังกล่าวของเซียนพระรายนี้ มีประเด็นน่าสงสัยว่า เหตุใดค่านายหน้าถึงมีราคาเกือบเท่ากับราคารับซื้อพระ แต่ป.ป.ช. เองก็ไม่ได้ตรวจสอบขยายผลในเรื่องนี้
ขณะที่ “อดีตผู้ว่าฯสมพร” ที่ถูกแอบอ้างชื่อ ว่าเป็นคนขายพระให้ “เซียนอั๊ง” ก็ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อป.ป.ช.พร้อมย้ำว่า ไม่เคยขายพระราคาแพงหลักล้านตามที่ “เซียนอั๊ง” กล่าวอ้าง อย่างมากที่สุดเคยปล่อยให้เช่าในราคาหลักหมื่นเท่านั้น และยังไม่เคยรู้จักกับ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์”มาก่อนด้วย
เมื่อได้ความมาตามนี้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ได้มีการเสนอให้ คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณา ชี้มูลความผิด “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนออกไป ด้วยเหตุผลพื้นฐานว่าให้เจ้าหน้าที่ไปทำข้อมูลมาเพิ่มเติม
จากความเคลื่อนไหวที่เกิดแถวสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เวลานี้ ต้องบอกว่า คดีนี้จะเป็นโอกาสที่ป.ป.ช. จะได้พิสูจน์ตัวเอง ในการทำงานว่ามีมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ใครผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย
อย่าเอาเกียรติของป.ป.ช.มาแลกกับคนไม่ดีไม่กี่คน เพื่อให้ประชาชนกลับมาไว้ใจอีกครั้ง