สภาพัฒน์ แนะร่างฯตีกรอบร่วมมือ "ไทย-เกาหลี” ฉบับแก้ปัญหาผีน้อย ที่รมว.แรงงานเตรียมลงนาม เสนอเร่งพัฒนาทักษะ "ภาษาเกาหลี" ระดับเข้มข้น เฉพาะแรงงานที่สนใจ เชื่อเพิ่มศักยภาพเพียงพอ ก่อนเข้าทดสอบ มาตรฐาน EPS-T0PIK เสนอแก้ข้อจำกัดกระบวนการจัดส่งแรงงาน พ่วงเงื่อนไขระหว่างอยู่ในประเทศปลายทาง หวังสร้างแรงจูงใจ ขจัดกระบวนการผีน้อย
วันนี้ (25 ก.ค. 2567) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ มีความเห็น ต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการจ้างงานและแรงงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
ด้านการส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่คณะรัฐมนตรี เพิ่งมีมติให้ รมว.แรงงาน ลงนาม )
สภาพัฒน์ เห็นว่า เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษาเกาหลีให้กับแรงงานไทยที่สนใจไปทำงาน ยังสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเข้มข้น
เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอในการเข้ารับการทดสอบ ความสามารถทางภาษาเกาหลีตามมาตรฐาน EPS-T0PIK
รวมทั้งกระทรวงแรงงาน ควรพิจารณาหารือ ร่วมกับกระทรวงการจ้างงานและแรงงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของกระบวนการจัดส่งแรงงานและเงื่อนไขการทำงานระหว่างอยู่ในประเทศปลายทาง
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้าสู่ช่องทาง การทำงานอย่างถูกกฎหมาย และเกิดผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
สำหรับ วัตถุประสงค์ ของร่างฉบับนี้ เพื่อรักษากรอบความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่ายและเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในกระบวนการจัดส่งและรับคนงานจากไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี
โดยกำหนดบทบัญญัติสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปฏิบัติตามเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานภายใต้ระบบ EPS ตามกฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างชาติ และอื่น ๆ ในสาธารณรัฐเกาหลี
กำหนดให้กรมการจัดหางานในฐานะหน่วยงานผู้ส่งมีอำนาจในการสรรหาและจัดส่งคนงาน และกำหนดให้ HRD Korea ในฐานะหน่วยงานผู้รับ มีอำนาจในการจัดการบัญชีรายชื่อคนหางานและรับคนงาน
กระทรวงแรงงานและการจ้างงานฯ จะนำระบบ Point System มาใช้ในการคัดเลือกคนงาน และกำหนดให้ HRD Korea เป็นหน่วยงานทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเป็นกลางในการดำเนินการ
คุณสมบัติของผู้ที่สมัครสอบ EPS-TOPIK จะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุระหว่าง 18 – 39 ปี
และผู้ที่สอบผ่าน EPS-TOPIK จะต้องเข้ารับการทดสอบทักษะและสมรรถภาพร่างกายเนื่องจากเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ระบบ Point System (ผลสอบมีอายุ 2 ปี นับจากวันประกาศผลสอบ)
ทั้งนี้ ไทย-เกาหลี เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจแก้ปัญหาแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย หรือ ผีน้อย เพื่อทำให้เกิความชัดเจนในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การจัดหา จนถึงพำนักในเกาหลี หลังต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ให้ความเห็นชอบ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ลงนาม
ทั้ง 2 ประเทศ ได้ลงนาม ภายใต้ระบบ EPS มาแล้ว 6 ฉบับ มีกรอบความร่วมมือ ตั้งแต่กระบวนการสรรหาแรงงาน การทำสอบภาษาและการทดสอบฝีมือแรงงาน การกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน การตรวจลงตราและการเข้าเมือง การทำงานและการพำนักในสาธารณรัฐเกาหลี
ตลอดจนการเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการป้องกันการอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย
ฉบับล่าสุด ฉบับที่ 6 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 โดยเตรียมต่ออายุ ฉบับที่ 7
โดย ฉบับที่ 7 มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับทั้ง 6 ฉบับที่ผ่านมา แต่มีการเพิ่มรายละเอียดบางประการ เช่น เพิ่มเติมให้กระทรวงแรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
"สามารถร้องขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นจากต่างประเทศให้แก่แรงงานเมื่อเดินทางถึงสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น โรคระบาด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความต่อเนื่องของกระบวนการ EPS และเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อภายใต้สถานการณ์"
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับแรกในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567 พบว่า มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งสิ้น 94,764 คน .