xs
xsm
sm
md
lg

ฮือต้านนิรโทษ 112 ทักษิณ-ก้าวไกล แห้ว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

งวดเข้ามาเรื่อยๆ สำหรับการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเตรียมจัดทำรายงานเสนอสภาผู้แทนราษฎร ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ยิ่งใกล้เข้ามาเท่าใด ก็ยิ่งเห็นแรงต้านมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการเหมารวมให้ครอบคลุมความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 จนเห็นชัดเจนว่าน่าจะ “ผ่านยาก”

หากสำรวจท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่มีผลต่อการโหวตก่อนหน้านี้ หลายพรรคมีท่าทีชัดเจนที่คัดค้านอย่างเต็มที่ เช่น พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ขณะที่ พรรคเพื่อไทยแม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีท่าทีชัดเจนเต็มร้อย แต่ก็พออนุมานได้เหมือนกันว่า พวกเขาก็เอนมาทางไม่เอาด้วย แต่หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าใจว่าเป็นเจ้าของพรรคตกเป็นจำเลยในความผิด มาตรา 112 ก็ทำให้แสดงท่าทีคลุมเครือ

ส่วนพรรคก้าวไกล ไม่ต้องพูดถึง พวกเขาออกแรงหนุนเต็มที่ เพราะทั้งส.ส.และแกนนำ “เจ้าของ” ล้วนถูกดำเนินคดี บางคนก็ถูกตัดสินจำคุกกันไปแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบรรดาแนวร่วมทางเดียวกันอย่างพวก “สามนิ้ว” ที่รู้ชะตากรรมในบั้นปลายว่า “คุกรออยู่” จากการทำผิดซ้ำซาก พวกนี้ก็ยิ่งหวาดผวา ยิ่งต้องการให้กฎหมายผ่านให้ได้

ที่ผ่านมากลุ่มม็อบสามนิ้วพยายามเคลื่อนไหวพร้อมกับพวกแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “ไอลอว์” กลุ่มที่เรียกว่าเป็นพวกนักสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม ต่างพยายามกดดัน โดยยื่นหนังสือแสดงความจำนงค์ผ่านพวกเดียวกัน คือ พรรคก้าวไกล

แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง หากพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจับมือกันโอกาสที่จะผ่านสภาก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นคำถามจากสังคมส่วนใหญ่ที่ก่อนหน้านี้เมื่อสำรวจผ่านทางช่องทางสอบถามความเห็นที่ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐสภาตามขั้นตอนก่อนเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ซึ่งผลก็ออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ด้วยเสียงท่วมท้น มันก็สะท้อนภาพชัดเจนว่าชาวบ้านมีความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษความผิด มาตรา 112 รวมไปถึงยังรวมความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 อีกด้วย

สำหรับความเห็นจากพรรคการเมือง เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคมองว่า หากจะมีการเสนอสภาให้ตรากฎหมายนิรโทษกรรม แก่การกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 2 ประเด็นแรกนั้น ตนเห็นด้วย หากเป็นการกระทำที่ไม่รุนแรงถึงขั้นชีวิต แต่ควรพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ ตามหลักกฎหมาย เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายได้

ส่วนการกระทำผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทฯนั้น กรรมาธิการมีเสียงแตก เห็นเป็น 3 แนวทาง แนวทางแรก เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม แนวทางที่ 2 นิรโทษกรรมให้โดยไม่มีเงื่อนไข และ แนวทางที่ 3 นิรโทษกรรมให้แบบมีมาตรการเงื่อนไขนั้น โดยนายธนกร เห็นว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิด ที่ก้าวล่วงสถาบันฯ ตามมาตราดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 6 ที่ระบุชัดว่า ”องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้“ ซึ่งจะเท่ากับว่ากฎหมายที่สภาจะตราออกมาใหม่เรื่องการนิรโทษกรรม ส่อไปขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง

“พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ย้ำจุดยืนมาตลอดแล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรม เราคัดค้าน จะต้องไม่รวมคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 เด็ดขาด เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ใครจะดูหมิ่นก้าวล่วงไม่ได้ ซึ่งการจะตรากฎหมายใดออกมาก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอาพวกพ้องเป็นใหญ่ หากดันทุลังผลักดันเรื่องนี้ในสภา เชื่อว่าสส.ผู้แทนที่มาจากประชาชนทุกคน ไม่ยอมแน่ หากกระทำความผิดก็ต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายธนกร ระบุ

ส่วนพรรคภูมิใจไทย นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวทำนองเดียวกันว่า เมื่อพิจารณา มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยิ่งเป็นการบอกชัดว่า การละเมิดพระมหากษัตริย์ นั้น คือการเจตนากัดเซาะ บ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศไปด้วย

ดังนั้น การละเมิดพระมหากษัตริย์ จึงไม่อาจทำได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางใด และไม่ต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใดใด ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอามูลเหตุจูงใจในทางการเมืองมาอ้าง เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ การนำเอา ปอ. มาตรา 110 หรือ 112 เข้ามาอยู่ในกฎหมายนิรโทษ จึงทำไม่ได้ เพราะความผิดมาตรา 110 และ 112 ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ส่วนดีของกฎหมาย และเจตนาดีที่จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาชุมนุมตกไปไม่ได้รับประโยชน์ แทนที่จะได้ลดความขัดแย้งลง แต่จะเพิ่มความขัดแย้งเพราะนำมาตรา 110 และ 112 เข้าไปรวมด้วย

“สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม มาตรา 110 หรือ 112 สิ่งน่าจะเหมาะสมและควรทำคือ การให้เขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยให้เขาได้รับสิทธิการประกันตัว และหากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร บุคคลดังกล่าวยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ โดยแท้” นายคารม ระบุ

ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคแถลงว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ย้ำจุดยืนของพรรคต่อร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่า พรรคมีมติคัดค้านการรวมคดี 112 รวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิด บุคคลที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองที่ไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้” ดังนั้น การให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่มาออกกฎหมายเพื่อให้นิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว การที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีมาตรา 112 ร่วมด้วย โดยมีเจตนาทางการเมืองไม่ได้ ถือเป็นการมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรมและอ่อนแอ นำไปสู่การล่มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ผู้กระทำผิดในมาตรา 112 เป็นการออกกฎหมายที่มีความร้ายแรงมากกว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ด้วยซ้ำ เราจึงคัดค้านไม่เห็นด้วย และ พล.อ.ประวิตร ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะปกป้องสถาบัน จึงต้องมาบอกให้ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ ขอคัดค้านเรื่องนี้และท่านยังกำชับว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา ในวาระ 1 ไม่ว่าจะกี่ฉบับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ทุกคน จะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตกไปตั้งแต่วาระ 1”

เมื่อเห็นท่าทีชัดเจนจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้านบางพรรค อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มองเห็นแนวโน้มข้างหน้าว่า น่าจะผ่านยาก แม้ว่า พรรคเพื่อไทยจะพยายามท่าทีคลุมเคลือ จะพยายามอ้างเหตุผลต่างๆนานา เช่น ให้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันและคำถามจากสังคมมีเจตนากับ “สถาบันฯ” อย่างไร หรือว่ามีเจตนาช่วยเหลือ นายทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิดหรือไม่

ขณะเดียวกันหากมองกันแบบรวบรัด มันก็ยิ่งทำให้การที่ นายทักษิณ ชินวัตร โดนคดีความผิด มาตรา 112 กลายเป็ณว่าทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่านยากขึ้นไปอีก เพราะถูกมองว่ามีเจตนาช่วยเขาให้พ้นผิด เหมือนกับแหวกหญ้าให้ตื่น ทำให้คนอื่นพลอยซวยไปด้วย อะไรทำนองนี้ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น