"เศรษฐา" เปิดตัวโครงการศูนย์กลางการเงิน ระบุพึ่งพาศก.ในประเทศอย่างเดียวไม่พอต้องเร่งยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย ตั้งเป้าศูนย์กลางทางการเงินจึงดึงนักลงทุน-องค์ความรู้-เทคโนโลยี ชี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางศก. โดยไม่ต้องใช้งบลงทุน แต่มีผลตอบแทนมหาศาล
วันนี้ (19ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องกำปั่นทอง ชั้น 21 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ “Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub” เปิดทางนำไทยสู่ศูนย์กลางการเงินโลก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐมนตรีนำเสนอ Vision ไปนั้น เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เติบโตจากภาคการผลิต ไปสู่ภาคการบริการที่มีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น ในอุตสาหกรรมการเงินของไทยเราช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความแข็งแกร่งจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฝั่งภาคการผลิต การท่องเที่ยวในประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แต่การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยได้เร็วเพียงพอ เราจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรับอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ ความสามารถมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในอุตสาหกรรมเช่นนั้น คืออุตสาหกรรมการเงิน การลงทุน การธนาคารครับ
นายเศรษฐา กล่าวว่า กลยุทธ์หลักที่ท่านรัฐมนตรีได้นำเสนอไปเมื่อครู่นี้คือการเปิดรับเงินนอกเข้ามาอยู่ในประเทศ ที่ผ่านมา เราเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา ปรับแก้กฏหมายให้เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ หลายๆบริษัทนั้น ไม่ได้เข้าไปอยู่ในประเทศ เพื่อจะค้าขายกับคนในประเทศ แต่เป็นการเข้าไปอยู่เพื่ออาศัย Ecosystem ในการทำธุรกิจ ทำให้สามารถหา Talent ได้ เจรจาพูดคุยการค้า การลงทุน ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
“หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบ้านเขาทำได้
ที่ผ่านมาทำไมนักลงทุนถึงไม่เลือกประเทศไทย การออกไปคุยกับนักลงทุนทำให้เราเข้าใจดีเลยว่า หัวใจของการสร้างอุตสาหกรรมนี้ คือการมีกฏหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจ และการมี Facility สำหรับคนทำงานที่ดีพอ ซึ่งผมมั่นใจว่า Facility ต่างๆในประเทศไทยนั้น World Class ทั้งสิ้น ทั้งสนามบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตัวกฏหมายที่ท่านรัฐมนตรีได้เล่าไปก่อนหน้านี้ ทั้งการตั้ง One-stop service การมีสิทธิประโยชน์การให้ความชัดเจนของการบริหารเงินทุนนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ไทยเติบโตไปเป็น Financial Frontier ของภูมิภาคได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า ในขณะเดียวกัน การผลักดัน Innovation ใหม่ๆทางระบบการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Bank หรือการค้ำประกันสินเชื่อ จะเป็นการสร้าง Inclusive Innovation ด้านการเงินให้กับคนไทยทำให้เข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นนำไปสู่การลงทุน การสร้างงาน การหาเงินเลี้ยงครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ในที่สุด และถ้าเรามองทั้ง Ecosystem ของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินแล้วนั้น Ecosystem ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีแค่ธนาคาร การลงทุน หลักทรัพย์ หรือ Virtual Bank เท่านั้น ยังมีภาคบริการ ที่เป็น Professional Service อีกหลายๆอย่างที่จะเติบโตไปด้วยกัน เช่นที่ปรึกษากลยุทธ์
ที่ปรึกษากฏหมาย ที่ปรึกษาเทคโนโลยี
ที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น หลายๆเจ้า ก็นั่งอยู่ในที่นี้ด้วยเช่นกันนะครับ และตนมั่นใจว่าการที่ Ecosystem นี้เติบโตไปด้วยกันนอกจากจะสร้างงานให้คนไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำระดับโลกแล้ว ยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างภาคธุรกิจไทย ไปยังตลาดโลก ผ่านองค์ความรู้ ความสามารถ และเครือข่าย (Network) ของบริษัท Professional Service เหล่านี้
“ ผมต้องขอย้ำให้เห็นว่าการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ไม่ใช่สร้างประโยชน์ให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว
แต่มันคือกลยุทธ์ที่ประเทศไทยจะดึงดูดเงินทุน ดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถ และดึงดูดองค์ความรู้ ให้เข้ามาอยู่ในประเทศ
สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของโลกและประเทศไทย ผมถือว่านโยบายนี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุน และมีผลตอบแทนมหาศาลต่อประเทศ คุ้มค่าอย่างยิ่งต่อการเดินหน้าเต็มที่”