xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.ดีอี” สั่งตั้งทีมปราบเฟคนิวส์ ห่วงข่าวปลอม “ดิจิทัลวอลเล็ต” ระบาดหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประเสริฐ” รมว.ดีอี ตั้งทีมปราบเฟคนิวส์ตามข้อสั่งการนายกฯ เผยช่วงนี้ข่าวปลอม ”ดิจิทัลวอลเล็ต“ ระบาดหนัก หลังมิจฉาชีพสบโอกาสสร้างข่าวก่ออาชญากรรมออนไลน์

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเร่งรัดปราบปรามข่าวปลอม (Fake News หรือเฟคนิวส์) ตามข้อสั่งการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.67 ที่ต้องการให้เร่งรัดปราบปรามข่าวสารและข้อมูลอันเป็นเท็จบนสื่อโซเซียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อบุคคล และโครงการสำคัญของรัฐบาล

โดยมี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี, นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษา รมว.ดีอี, นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการ รมว.ดีอี, พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าร่วมหารือ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอม บิดเบือน สร้างความเสียหายโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กระทรวง ดีอี จึงได้ร่วมหารือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย บช.สอท. และ บก.ปอท. เพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการปราบปรามข่าวปลอม

โดยมีประเด็นสำคัญในการหารือดังนี้ 1. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวสารและข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย พร้อมดำเนินการโต้ตอบ ชี้แจงข้อเท็จจริงในทันทีตามความเหมาะสม เมื่อได้มีการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอม ข้อมูลผิด ข้อเท็จจริง โดยให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้สามารถร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้

2. เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มีความครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยให้ประสานขอความร่วมมือจากสื่อของหน่วยงานรัฐ และสื่อเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

3. ประสานงานความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พบว่ามีการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อทำการตรวจสอบ และปิดกั้น

"ข่าวปลอม ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้ประชาชนมีความเข้าใจผิด บิดเบือนจากข้อมูลจริง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมิจฉาชีพได้อาศัยความสนใจของประชาชนต่อโครงการดังกล่าวเป็นช่องทางในการสร้างข่าวปลอม เพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์" นายประเสริฐ ระบุ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวง ดีอี จึงร่วมกับ ตร. ตรวจสอบข่าวปลอมที่เข้าข่ายการกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานตรวจสอบเป็นประจำทุกวัน เพื่อดำเนินการระงับยับยั้งข่าวปลอม และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างจริงจัง ทั้งนี้สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) หรือ Line ID: @antifakenewscenter หรือ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com


กำลังโหลดความคิดเห็น