ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง “ผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำการศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน เปิดเผยว่า ประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญของการออกนโยบายสาธารณะของรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักอ้างเรื่องการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นเหตุผลต่อต้านมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับไทยซึ่งการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ จึงมีสมมติฐานจากภาครัฐและเอกชนบางกลุ่มว่า การออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อพิจารณาตัวเลขหลายแหล่ง ชี้ตรงกันว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากประมาณเฉลี่ย 5 ลิตรต่อคนต่อปี ในปี 1990 ในปี 2019 เพิ่มเป็น 7 กว่าลิตร งานวิจัยนี้จึงศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ข้อมูลประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ.1990-2019 ทั้งในภาพรวม และจำแนกรายประเภท ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ยิ่งมีการดื่มในภาพรวม และเบียร์ สุรา มากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวยิ่งต่ำลง
ผลการศึกษาสอดคล้องกับงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา เพราะการดื่มกระทบกับสุขภาพ ทำให้ขาดงานบ่อย ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตายก่อนวัยอันควร ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อผลิตภาพของกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การดื่มยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาส สูญเสียเงินและเวลาที่สามารถนำไปใช้ดูแลพัฒนาบุตรหลาน ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่มีประสิทธิผลในการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ หากพิจารณาจากมาตรการของต่างประเทศที่มีความเข้มแข็ง คือ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ พบว่าคุมเข้มการโฆษณา เก็บภาษีสูงมาก และเครื่องดื่มที่มีดีกรีสูง ได้แก่ สุรา ไวน์ ให้ขายในร้านค้าของรัฐเท่านั้น ส่วนร้านทั่วไปสามารถขายเบียร์ที่มีดีกรีต่ำ น่าสนใจว่า นอร์เวย์มีกฎหมายห้ามขายวันอาทิตย์ วันสำคัญทางศาสนา วันหยุดสำคัญของประเทศ สวีเดน ฟินแลนด์ ก็ไม่จำหน่ายสุรา ไวน์ และเบียร์ดีกรีสูง ในวันอาทิตย์เช่นกัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ใช้มายาวนาน เพราะทุกรัฐบาลเห็นความสำคัญของการควบคุมอย่างเข้มงวดว่าจะทำให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่สิงค์โปร์ ประกาศนโยบายเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีกำลังจ่ายสูง จึงทำสิ่งแวดล้อมในประเทศให้มีคุณภาพ คุมเข้มการขาย การดื่มแอลกอฮอล์ โดยนั่งดื่มในผับบาร์ได้ไม่เกิน 23.59 น.
“สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่ผ่อนคลายให้สามารถขายแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง เพราะรัฐบาลต้องการกระตุ้นยอดการดื่มให้มากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หากดูจากตัวเลข WHO ที่เผยแพร่ทุก 5 ปี จะพบว่า ญี่ปุ่นมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวที่ต่ำกว่าไทยโดยตลอด เพราะรัฐบาลทุกยุครณรงค์ให้ประชาชนเห็นโทษภัยของการดื่มทั้งต่อตนเองและต่อสังคมเศรษฐกิจ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จึงไม่ค่อยปรากฎพฤติกรรมเมาแล้วขับเหมือนในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น แม้จะผ่อนคลายมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาตามมามาก แต่ถ้าเทียบกับประเทศไทย ข้อมูลปี 2021 พบว่า ญี่ปุ่นมีประชากร 124 ล้านคน มีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 179 คน ส่วนไทยประชากร 71 ล้านคน ตายบนถนน 2,390 คน ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ แม้ว่าปีดังกล่าว ไทยยังไม่ได้มีการลดทอนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น เมื่อพิจารณาบริบท ณ ปัจจุบันของประเทศไทย การที่จะออกนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นในทุกๆทาง จึงเป็นเรื่องที่น่าคลางแคลงใจทั้งในเหตุผลทางวิชาการ ผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลทางสถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน กล่าว
สำหรับผลการศึกษาผลกระทบประเทศนอร์เวย์ ประชากร 5 ล้านคน ตายบนถนนจากการเมา 10 คน สิงคโปร์ ประชากร 5 ล้านคน ตายบนถนนจากเมา 6 คน ญี่ปุ่นประชากร 124 ล้านคน มีการเสียชีวิตบนท้องถนนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 179 คน เยอรมนีมีประชากร 83 ล้านคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากเมา 179 ราย ไทยมีประชากร 71 ล้านคน เสียชีวิตบนท้องถนนจากเมา 2,390 คน