วันนี้ (13 ก.ค.) ณ สำนักงานใหญ่องค์กรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเพื่อการลงทุนยางพารา (Rubber Industry Smallholders DevelopmentAuthority : RISDA) ประเทศมาเลเซีย ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย พร้อมคณะทีมไทยแลนด์ พบหารือและรับฟังการบรรยายจาก Abdullah bin Abdul Kadir ประธานองค์กรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเพื่อการลงทุนยางพารา (RISDA)
ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยด้านการเจรจาเรื่องยางพาราเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ และมุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับยางพาราในทุกๆ ภาคส่วน ซึ่งบทบาทที่สำคัญของทั้งสองประเทศคือภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การเจรจาในครั้งนี้ ได้มีการผลักดันความร่วมมือในภาคการผลิต ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เกี่ยวกับการกระบวนการทำอาชีพการทำสวนยางให้ได้มาตรฐาน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและสร้างรายได้ ตลอดจนมูลค่าเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรรายย่อยชาวสวนยางของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในด้านราคาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรขาวสวนยาง ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของสองหน่วยงานที่จะมีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยระหว่างประเทศร่วมกัน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ Rubber Industry Smallholders Development Authority (RISDA) ภายใต้ Ministry of Rural and Regional Development ซึ่งทั้งสององค์กรหลัก มีภารกิจในสอดคล้องกัน และสามารถที่จะนำแนวทางมาต่อยอดเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรรายย่อยให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่านโครงการริเริ่มและนโยบายของกันและกันได้ และคาดว่า ความร่วมมือดังกล่าวในอนาคต จะขยายขอบเขตสู่ประเทศผู้ผลิตยางในแถบภูมิภาคอาเซียน
ทางด้าน ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้ดียิ่งขึ้น มีรายได้ที่ดี และพัฒนาอาชีพการทำสวนยางให้เป็นอาชีพที่เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งประเทศมาเลเซีย มีเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยรวมกว่า 500,000 รายและพื้นที่รวมประมาณ 1,000,000 เฮกตาร์ (6,250,000 ไร่) ภายในประเทศโดยปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตลดลงแม้ว่าจำนวนเกษตรกรจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนัก โดยในหลายปีที่ผ่านมามีผลกระทบจากสาเหตุของราคายางและขาดความต่อเนื่องในการสืบทอดอาชีพของเกษตรชาวสวนยางรุ่นเยาว์ต่อภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรมยาง ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีเกษตรกราชาวสวนยางรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยกว่า 1.4 ล้านราย และพื้นที่รวมประมาณ 20 กว่าล้านไร่ ดังนั้น หากทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งแรกที่เป็นการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยจะขับเคลื่อนการพัฒนาผลผลิต การนำเทคโนโลยีที่ดีจากทั้งสองประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐาน และสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้มีความเป็นอยู่ดี รวททั้งการพัฒนาเรื่องราคาและตลาดยางพาราในภาคการผลิตให้มีความเป็นธรรม จะเป็นโอกาสที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยางที่เปลี่ยนแปลงบทบาทให้มีโอกาสในภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น
“การเจรจาความร่วมมือระหว่าง กยท. และ RISDA รวมทั้ง การลงพื้นที่เพื่อพบปะเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยของทั้งสองประเทศ ทำให้ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการผลักดันนโยบายความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคการผลิต ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน หวังยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตกรชาวสสวนยางให้ดียิ่งขึ้น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง และที่สำคัญจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพาราของทั้งสองประเทศต่อไปในเร็วๆ นี้” ผู้แทนการค้าไทย เผย