xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.กลาง ชี้ อธิบดีกรมอุทยานฯออกระเบียบฯเก็บรังนกอีแอ่น ไม่ชอบสั่งเพิกถอน 4 ข้อปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองกลาง ชี้ อธิบดีกรมอุทยานฯ ออกระเบียบฯเก็บรังนกอีแอ่น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจเกินขอบเขตกฏหมายกำหนด สั่งเพิกถอน 4 ข้อปัญหา

วันนี้ (12 ก.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2565 ในข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 11 และข้อ 17โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้ ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 31 พ.ค.2567 ที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ ข้อ 11 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2565 ไว้เป็นการชั่วคราว มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามคำร้องของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ว่า ออกระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลให้เหตุผลว่า แม้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา14 ที่เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบพิพาท กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าสงวนและรังของสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ใน มาตรา14 วรรคสาม ของพ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดข้อยกเว้นแก่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่นและผู้ที่อาศัยอำนาจของผู้รับอนุญาตดังกล่าวให้สามารถเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าดังกล่าวได้ หากแต่ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดี อส.กำหนด โดยระเบียบที่ อธิบดี อส.กำหนดนั้นจะต้องเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับมาตรการการดำเนินการและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการเก็บรังนกอีแอ่น

การที่ข้อ 6 ประกอบข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้การเข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งหมายถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี อส. และข้อ 7 ประกอบข้อ 11 ของระเบียบพิพาท กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอความเห็นชอบจากอธิบดี อส. ก่อนดำเนินการให้สัมปทานการเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่านั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้เป็นฐานอำนาจในการออกระเบียบบัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น แต่เมื่อมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มิได้บัญญัติให้อธิบดี อส. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า อธิบดี อส. จึงไม่อาจออกระเบียบกำหนดให้การเข้าไปในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี อส.ได้ ดังนั้น ข้อ 6 และข้อ 17 ของระเบียบนี้จึงมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร

ส่วนในข้อ 7 และ ข้อ 11 ที่กำหนดให้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องขอความเห็นชอบจากอธิบดี อส.ก่อนดำเนินการให้สัมปทานการเก็บรังนกอีแอ่นในพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่านั้น ย่อมทำให้อำนาจในการพิจารณาให้สัมปทานเก็บรังนกตาม พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 อันเป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ เปลี่ยนแปลงไปเป็นอำนาจที่ต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน ทำให้อธิบ อส. มีอำนาจเหนือคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้

จึงพิพากษาเพิกถอนข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 11 และข้อ 17 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเก็บรังนกตามกฎหมายว่าด้วยอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น