xs
xsm
sm
md
lg

เบรก! ร่างยกฐานะ “เทศบาลนครบุรีรัมย์” ที่ตั้ง “อาณาจักรสายฟ้า/โรงโม่หิน” กม.มท.ชี้ ขั้นตอนเร็วไป “ยุบ” ทต.อิสาณ ควบ ทม.บุรีรัมย์ หวั่นสับสนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คกก.พิจารณาร่างกฎหมายมหาดไทย เบรก! แผนยกฐานะ “เทศบาลนครบุรีรัมย์” พื้นที่ตั้ง สนามฟุตบอล/สนามแข่งรถ/โรงแรมขนาดใหญ่/โรงโม่หิน ตั้งข้อสังเกตยกร่าง “ยุบ” ทต.อิสาณ จ่อควบรวม “ทม.บุรีรัมย์” พ่วง 4 หมู่บ้าน อบต.เสม็ด คาดประชากร กว่า 5 หมื่นคน ระบุ ยุบในคราวเดียว อาจไม่เหมาะสม อาจได้ความเห็นประชาชนในพื้นที่ไม่สมบูรณ์ หวั่น “เร่งรัด ยุบรวม” อาจสับสนกระบวนการเลือกตั้ง

วันนี้ (11 ก.ค. 2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้ง เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ได้ตรวจพิจารณาร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีมติให้กรมเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ผู้เสนอ รับความเห็นและข้อสังเกต ไปพิจารณา

เป็นประกาศ เรื่อง ยุบเลิกเทศบาลตำบล (ทต.) อิสาณ และรับพื้นที่บางส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสม็ด มารวมกับเทศบาลเมือง (ทม.) บุรีรัมย์ และเปลี่ยนแปลงเขต และยกฐานะเป็น “เทศบาลนครบุรีรัมย์”

และ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แยกพื้นที่บางส่วน ไปรวมกับเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนยกฐานะเป็น “เทศบาลนครบุรีรัมย์”

คณะกรรมการมีข้อสังเกตเห็นว่า การยุบเลิก รวม เปลี่ยนแปลงเขตและฐานะ ในคราวเดียว อาจไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ อาจไม่สมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน

“ควรให้มีการยุบรวมกันก่อน และทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ เมื่อมีความพร้อมหรือทิ้งช่วง ระยะเวลาหนึ่งก่อน แล้วจึงทำการประกาศเปลี่ยนแปลงฐานะ เพื่อให้เป็นไปตามสำคับขั้นตอนของกฎหมาย ที่ควรจะเป็น และจะเป็นการวางแนวทางต่อไป”

อย่างน้อยต้องทิ้งช่วงในแต่ละขั้นตอน ในการยุบและรวมพื้นที่บางส่วนมาเป็นของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ก่อน ต่อจากนั้นจึงค่อยมาเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลเมือง เป็นเทศบาลนคร ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะชัดเจนว่า ได้รับการสอบถามและสำรวจความคิดเห็น

ส่วนในกรณีที่จะเปลี่ยนฐานะเป็น “เทศบาลนครบุรีรัมย์” คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะว่า ควรจะดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ตามเงื่อนไขทีละขั้นตอน แล้วจึงประกาศเป็นเทศบาลนคร จะทำให้กระบวนการถูกต้องเหมาะสม

ไม่ควรที่จะกำหนดระยะเวลาและกระบวนการแต่ละขั้นตอน โดยจัดทำประกาศพร้อมกันในคราวเดียว และให้มีผลในวันเดียวกัน ซึ่ง สถ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆ ไว้อยู่แล้ว เช่น กำหนดช่วงเวลาจัดให้มีการเลือกตั้งของ อปท.

ดังนั้น จึงอาจดำเนินการยุบรวม อปท.ก่อน แล้วเร่งดำเนินกระบวนการต่างๆ แล้วจึงเปลี่ยนแปลงฐานะ โดยให้มีระยะห่างระหว่างกันและเป็นไปภายในกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในทุกขั้นตอน ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

ในกรณีได้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศ “ยุบรวมและคงสถานะเทศบาลเมืองบุรีรัมย์” อาจกำหนดในร่างประกาศฯ ให้มีข้อความเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ “นายกเทศมนตรีและสมาชิก” อยู่ต่อไป

ให้เทียบเคียงกับกรณีที่เคยมีการแบ่งขั้นตอนการยุบเลิก รวม เปลี่ยนแปลงฐานะของ อปท. ว่า มีการเขียนบทรองรับสถานะผู้บริหารและสมาชิกไว้อย่างไร

ทั้งนี้ ให้จัดลำดับการอ้างกฎหมายในบทอาศัยอำนาจโดยปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับขั้นตอนการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน เนื่องจากในร่างประกาศฯ อ้างบทอาศัยอำนาจตามความ ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ

ก่อนอ้างบทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ เทศบาลฯ แต่ในลำดับขั้นตอนตามร่างประกาศฯ เริ่มต้นข้อแรก ให้ยุบเลิกเทศบาลตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติเทศบาลฯ จึงไม่สอดคล้องกัน

ท้ายสุดในเรื่องรูปแบบการเขียนกฎหมายและการใช้ถ้อยคำควรเป็นไปตามบทบัญญัติของ กฎหมายที่อ้างอิง เช่น ในร่างประกาศฯ เขียนว่า รับพื้นที่ของ อบต.เสม็ด มารวมกับ ทม.บุรีรัมย์

แต่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มาตรา 41 เบญจ ไม่ได้กำหนดใหเทศบาลรับพื้นที่ของ อบต.ไปรวม แต่กำหนดให้แยกพื้นที่บางส่วนของ อบต.ไปรวม จึงขอให้แก้ไขในส่วนนี้

ยังพบว่า ในการเสนอร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดวันมีผลใช้บังคับ แต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ เพิ่งมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2567

ดังนั้น ถ้าออกประกาศและให้มีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า อาจมีข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณายุบเลิก หรือรวม อปท. ที่เป็นสาระสำคัญ เปลี่ยนแปลงไป

หรือความต้องการของประชาชนอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 249

ที่กำหนดให้การจัดตั้ง อปท.ในรูปแบบใด ให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และควรที่จะดำเนินการต่างๆ

โดยมีระยะเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการกำหนดเวลาใช้บังคับจะต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่ดีพอ

รายงานจาก จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า เมื่อต้นปี 2567 ทต.อิสาณ ประสงค์จะขอยกฐานะจากเทศบาลตำบลเป็น “เทศบาลนคร” โดยขอให้มีการจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงฐานะการเปลี่ยนชื่อ/การเปลี่ยนแปลงเขต/การรวมและยุบรวมการรับรวม

และแยกพื้นที่บางส่วนของ อปท. ประกอบไปด้วย ทต.อิสาณ ทั้งพื้นที่ ทม.บุรีรัมย์ ทั้งพื้นที่ ทต.บ้านบัวบางส่วน อบต.กระสังบางส่วน และ อบต.เสม็ด บางส่วน เพื่อยกฐานะเป็น “เทศบาลนครบุรีรัมย์”

มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกฐานะ มีหน้าที่ศึกษาข้อมูล กำหนดแนวทางหรือวิธีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเทศบาลนคร

อำนาจพิจารณาปรับปรุงแนวเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นเทศบาลนครบุรีรัมย์

โดยร่างแผนที่จัดตั้ง “เทศบาลนครบุรีรัมย์” แบบที่ 1 ประกอบด้วย เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จำนวน 18 ชุมชน จำนวนประชากร 23,494 คน เทศบาลตำบลอิสาณ จำนวน 18 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 22,020 คน

และองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด จำนวน 4 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 5,344 คน ได้แก่ หมู่ที่ 9 บ้านโคกใหญ่ หมู่ที่ 11 บ้านโคกเขา หมู่ที่ 13 บ้านเขากระโดง และหมู่ที่ 16 บ้านศิลาทอง

โดยมีจำนวนประชากรทั้งชายและหญิง รวมจำนวน 50,858 คน เพื่อยุบ รวม แก้ใขเปลี่ยนแปลงแนวเขต และยกฐานะเป็นเทศบาลนครบุรีรัมย์

สำหรับเทศบาลตำบลอิสาณ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของเมืองบุรีรัมย์ เพราะเป็นที่ตั้งของบรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สนามฟุตบอล สนามแข่งรถ โรงแรมขนาดใหญ่ และโรงโม่หินของนักการเมืองใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น