xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลชงแก้พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังฯ สกัดเงินนอกงบกองทัพ ต้องเผยสาธารณชน-ออกพ.ร.บ.กำกับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก้าวไกล เสนอแก้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ พุ่งเป้าสกัด “เงินนอกงบกองทัพ” เพิ่มข้อความต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน การจัดเงินนอกงบ โดยออก พ.ร.บ.กำกับ หวัง สภาฯ โหวตรับวาระแรก

วันนี้ (10 ก.ค.67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่นายวิโรจน์ ลักษณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอในสัดส่วนของงบกระทรวงกลาโหม

นายวิโรจน์ กล่าวว่าการพิจารณาร่างงบประมาณปี 63 จนมาถึง ปี 68 จะพบว่าทุกปีกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณอยู่ทุกครั้ง โดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณของเหล่าทัพ ที่ต้องให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ เพราะถ้าเรารู้ข้อมูลเงินของเงินนอกงบประมาณ และศักยภาพในการหารายได้จากหน่วยราชการต่างๆ ก็จะทำให้สภาและรัฐบาลสามารถวางแผนงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม่นยำมากขึ้น คือหากมีศักยภาพในการหารายได้ของตัวเองแล้ว รัฐบาลก็สามารถจัดงบลดลง เพื่อกันงบส่วนนั้นไปให้หน่วยงานที่จำเป็น แต่ปัจจุบันเราก็รู้กันดีว่า ถ้าเงินนอกงบประมาณไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ถูกต้องตามหลักการบัญชีการวางแผนงบประมาณทั้งหมดก็จะขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น จึงเสนอแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังในครั้งนี้ โดยมี 3 ส่วนสำคัญคือ 1. แก้ไขมาตรา 28 แม้จะเขียนไว้รัดกุมมาก และรัฐบาลให้ความสำคัญมาก ว่าต้องคำนึงถึงภาระทางการคลัง และการสูญเสียรายได้ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่คนที่ควรรู้มากที่สุดคือประชาชน ที่เป็นผู้แบกรับภาระ และต้องเสียภาษี ในฐานะเจ้าของเงินแผ่นดิน จึงเสนอให้เพิ่มประโยคในวรรคที่ 3 ให้ใส่ประโยคที่ว่า “ให้รายงานยอดคงค้างดังกล่าว ต่อสาธารณะ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และกำกับติดตามการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล“

2. มาตรา 61 วรรค 2 ที่แต่เดิมระบุไว้โดยสังเขปว่า ”เงินนอกงบประมาณให้มีเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่หรือการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการมีเงินนอกงบประมาณนั้น เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่ จะมีกฎหมายหรือทำความตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่น“ เพื่อต้องการให้มีการจัดการเงินนอกงบประมาณมีความโปร่งใส ซึ่งโดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณของกองทัพที่มีสูงถึง 1.8หมื่นล้านบาท หรือ 8 เปอร์เซนต์ ของงบกลาโหม ก็ถูกตั้งข้อสังเกตมาตลอด

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนยืนยันว่ากองทัพและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐสามารถบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณด้วยตัวเองได้ แต่ควรต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำกับเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การจัดงบประมาณมีความโปร่งใส มีการตรวจสอบทางบัญชีที่ถูกต้อง การที่กองทัพทำเพียงข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ธุรกิจในกองทัพอยู่ในแดนสนธยา และส่งผลให้บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพไปเรื่อยๆ และยิ่งอ้างเรื่องความมั่นคง ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ว่าการที่กองทัพมาทำมาหากิน กลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปได้อย่างไร หรือ “เป็นเพียงความมั่นคงในกระเป๋าของนายพลคนไหนกันแน่”

ส่วนที่3มาตรา 76 ในกรณีที่กระทรวงการคลังที่จะต้องจัดทำรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงการคลัง ในวันสิ้นปีงบประมาณ และเสนอต่อ ครม. และคกก.นโบบายการเงินการคลัง ที่เมื่อ ครม. รับทราบแล้วจบ ตนก็ขอแก้ไขเพิ่ม ให้ ครม. เมื่อรับทราบแล้ว ก็ควรมีการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลังด้วย

นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหวังว่าในสภาฯ ที่มีการติติงเรื่องของเงินนอกงบประมาณของกองทัพเรื่อยมา จะโหวตรับในวาระที่ 1 และไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธ พร้อมฝากอีกว่า ตนได้ยินว่า รัฐบาลจะอุ้มกฎหมายนี้ไปศึกษา 60 วัน จึงตั้งคำถามว่าจะศึกษาไปเพื่ออะไร หากอ่านรายงานข้อสังเกตก็ต่างรู้ปัญหา จะอุ้มไปทำไม ควรที่จะโหวตรับ และเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อให้เงินนอกงบประมาณของกองทัพ มีความโปร่งใส และเงินเหล่านั้น ถูกใช้เพื่อประโยชน์ และคุณอุปการของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยสส.ก้าวไกลส่วนใหญ่ต่างอภิปรายสนับสนุน เน้นประเด็นการจัดงบนอกงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก จากนั้นที่ประชุมได้มีมติ 268ต่อ161 เสียง เห็นควรนำส่งร่างดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการ


กำลังโหลดความคิดเห็น