รมช.คลัง แจงส่งกฤษฎีกาตีความดิจิทัล วอลเล็ต หลังเข้า ครม. 30 ก.ค. เหตุต้องรอข้อมูลครบก่อน ย้ำ ไตรมาส 4 ได้ใช้เงินแน่ แซะ ธปท.ผูกมาตรการการเงินกับนโยบายรัฐ ทำประชาชนเจอดอกเบี้ยแพง
วันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่า บอร์ดธนาคารการเกษตรเพื่อสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังไม่อนุมัติงบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หมายความว่า รัฐบาลยังไม่ได้ส่งโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า การนำเงินไปใช้ขัดวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส.ใช่หรือไม่ ว่า การส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ต้องส่งเป็นแพกเกจ ทุกเงื่อนไขทุกข้อจำกัดต้องเคลียร์ ต้องเสร็จสิ้นหมดแล้ว เช่น ธ.ก.ส.จะต้องเสนอมาว่าจะแจกเงินประชาชนเท่านี้ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ระบบแบบนี้ สินค้าต้องห้ามมีอะไรบ้าง เงื่อนไขอะไรต่างๆ ต้องครบแล้วให้ตีความเป็นก้อนไม่ใช่เป็นชิ้น แต่ยืนยันวันนี้ทุกอย่างยังอยู่ในไทม์ไลน์ โดยการจะส่งไปนั้นต้องรอระยะเวลาที่เหมาะสม และขอชี้แจงไทม์ไลน์ของโครงการ ว่า วันที่ 10 ก.ค. จะประชุมอนุกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อสรุปเงื่อนไขทั้งหมด วันที่ 15 ก.ค. คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ชุดใหญ่ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธาน จะมีการประชุม และวันที่ 24 ก.ค. นายกฯ จะแถลงข่าวสรุปโครงการรวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ก.ค.
เมื่อถามว่า จะนำเรื่องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนหรือหลังวันที่ 30 ก.ค. นายเผ่าภูมิ ตอบว่า หลังจากวันที่ 30 ก.ค. เมื่อถามว่า หากสุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า การนำเงินมาใช้สำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ขัดวัตถุประสงค์ ธ.ก.ส. มีแผนสำรองไว้หรือไม่ หรือจะจ่ายเฉพาะวงเงินที่มี นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า มีเสนอ แผนสองสองแผนสาม เรามีอยู่แล้ว แต่เราจะเดินในแผนหนึ่งก่อน ซึ่งการลงทะเบียนยืนยันตัวตนจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 และยืนยันว่า เงินจะถึงมือประชาชนไตรมาส 4 ส่วนจะได้วันใดนั้น ขอยังไม่ระบุเพื่อความยืดหยุ่น ส่วนข้อกังวลของประชาชนหลังมีฝ่ายค้านออกมาท้วงติง อยากให้ประชาชนแยกคิดเป็นเงินก้อนๆ ก้อนเงินจากงบประมาณปี 67 และ 68 อยู่ในกระบวนการ ส่วนก้อนที่เกี่ยวกับ ธ.ก.ส. ก็อยู่ในกระบวนการ ในเรื่องของงบประมาณไม่มีปัญหาอะไร ข่าวที่ตีออกไปถือเป็นความเห็นที่เรารับฟัง แต่รัฐบาลก็เดินตามกระบวนการ กรอบระยะเวลา และกฎหมายทุกอย่าง สำหรับสินค้าอะไรบ้างที่จะไม่เข้าเงื่อนไขนั้น ยกตัวอย่างมือถือและสินค้าอิเลกทรอนิกส์ มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกตัดออก แต่ตอนนี้อยู่ในการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูว่าสินค่าอะไรทำให้เงินออกไปนอกประเทศ โดยจะสรุปในที่ประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต วันที่ 10 ก.ค. เมื่อถามย้ำว่า เสียงท้วงติงของ น.ส.ศิริกัญญา จะกระทบความเชื่อมั่นโครงการหรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เป็นทุกความเห็นที่เราต้องรับฟัง และเรานำมาไตร่ตรองว่าสิ่งที่ทำถูกต้องตรงตามหลักการข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าตรงตามกฎหมาย เราต้องทำต่อ แล้วชี้แจงความเห็นต่าง เมื่อถามว่า หากราคาสินค้าเกิน 10,000 บาท จะสามารถนำเงินในครอบครัว 2 คน มาใช้ร่วมกันได้หรือไม่ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รวมกันได้ นี่คือ สิ่งที่เราอยากให้เกิดด้วยซ้ำ 5 คน มารวมกันเป็น 5 หมื่น ท่านสามารถเอาไปซื้อรถเข็นมาขายของได้ นี่คือ สิ่งที่เราอยากให้เกิด
เมื่อถามว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกรณี ธนาคารโลก รายงานผลประเมินว่า โครงการดิจิทัลจะสามารถกระตุ้นจีดีพีได้แค่ 0.5-1.0 เปอร์เซ็นต์ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าตรงนี้ คือ โครงการใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยมีการจำกัดรัศมี ไม่เคยมีการทำให้เงินหมุนอยู่หมู่บ้านในชุมชน ฉะนั้น การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลากหลาย ซึ่งกระทรวงการคลังก็ประเมินจากหน่วยงานต่างๆ ที่เขาประเมิน ซึ่งตัวเลขการประเมินก็มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เช่น สินค้าต้องห้ามที่ยังไม่นิ่ง เราจึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่ ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่รับฟัง รับข้อห่วงใย และข้อประเมิน และมาพิจารณาร่วมกัน เมื่อถามต่อว่า ข้อสังเกตธนาคารโลก ระบุว่า ถ้าไม่ทำโครงการดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถึง 0.25-0.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินก็ต้องทำหน้าที่ในส่วนของมาตรการทางการเงินอยู่แล้ว อย่าเอามาผูกกันในมิติต่างๆ ธปท. เคยผูกมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่คาดการณ์ว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเกิดปีนี้ และมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปรอ เพราะกลัวเงินเฟ้อ ธปท.เคยทำมาแล้ว เมื่อเอาผูกกันอย่างนี้ ผูกเสร็จแล้วก็มีปัญหา ในที่สุด ธปท.ขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยที่เงินดิจิทัลยังไม่ออก และเงินเฟ้อก็ไม่ได้ขึ้น ทำให้มีปัญหาและเห็นเงินเฟ้อตกขอบในปัจจุบัน