ผู้สมัคร ส.ว.บุก กกต.ยื่นหลักฐานเพิ่ม จี้เปิดหีบพิสูจน์ฮั้วลงคะแนน หนุน ส.ว.ชุดปัจจุบันร่วมตรวจสอบ หวังได้ความยุติธรรม ด้านผู้สมัครกลุ่มเอสเอ็มอี ทวงสอบคุณสมบัติ พบไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการจริง
วันนี้ (8 ก.ค.) ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา หรือ ผู้สมัคร ส.ว. นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายฯ ยื่นหนังสือและหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. เป็นครั้งที่ 4 และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำร้อง หลังจากก่อนหน้านี้ได้มายื่นขอให้ตรวจสอบความผิดปกติในการลงคะแนน ที่พบว่า มีการจัดตั้ง มีการลงคะแนนตามโพย จึงขอให้มีการเปิดหีบพิสูจน์การลงคะแนนว่าเป็นไปตามโพย และคัดค้านการประกาศรับรอง ส.ว.200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน
โดย พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. และมายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อเนื่อง จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่4แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จาก กกต. ตนพยายามที่จะหาความเป็นธรรมไปยื่นคำร้องต่อศาลต่างๆ แต่ศาลก็ยกคำร้องโดยเห็นว่า กกต.ยังไม่มีการประกาศรับรองผล ตนจึงต้องมาเรียกร้องให้กกต.ดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ได้ยื่นไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบัตรที่อยู่ในหีบรอบเลือกไขว้นั้นมีการลงคะแนนตรงตามโพยทุกใบ โดยหลังจากมาเทียบดูแล้ว ผู้ได้รับคะแนนสูงๆ เป็นไปตามโพยทุกประการ วันนี้ จึงเอามาให้ กกต. เผื่อ กกต.ทำไม่เป็นจะได้ทำตามที่ตนยื่น รับรองจะเจอข้อเท็จจริงแน่นอน
พล.ต.ท.คำรบ ยังกล่าวด้วยว่า หาก กกต.ไม่ดำเนินการตามที่ร้อง พวกตนร้องก็จะมายื่นทุกวัน หรือถ้าไม่สนใจแล้วประกาศรับรอง ส.ว. 200 คนไป โดยไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะถือว่า กกต.หลีกเลี่ยงที่จะผดุงความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่มาตรา 32 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดไว้ ซึ่งก็จะมีโทษตามมาตรา 69 จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และอาจจะโดนไปถึง ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อยากเห็น จึงขอวิงวอนให้ กกต.เปิดหีบบัตรลงคะแนนตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทุกอย่างกระจ่าง
“มาตรา 59 ของกฎหมายเดียวกัน ให้อำนาจ กกต.ทั้งในเรื่องจะเลือกใหม่ การจะยับยั้ง หรือแม้แต่บัญชีที่ กกต.ประกาศไปแล้วก็สามารถจะทำขึ้นใหม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นด้วย กกต.เปิดหีบบัตรออกมาแล้วพบว่าผู้ได้รับเลือกได้คะแนนมาโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม ซึ่งก็ต้องได้ใบแดงตามที่กฎหมายกำหนด แล้วก็เลื่อนคนที่ได้คะแนนลำดับถัดไปขึ้นมา อาจจะเกินบัญชีสำรองที่ได้ ก็อยู่ในวิสัยที่ กกต.ทำได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจ กกต.ไว้”
พล.ต.ท.คำรบ ยังเห็นด้วยกับการที่ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบการเลือก ส.ว. ในขณะนี้ เพราะผู้สมัคร ส.ว.มายื่นร้องกันในขณะนี้ก็ไม่รู้ว่า กกต.จะรับฟังเท่าไหร่ การที่ ส.ว.เข้ามาช่วยตรวจสอบก็เหมือนเป็นแรงหนุนที่อาจทำให้ความยุติธรรมเพิ่มขึ้นมา
นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ผู้สมัคร ส.ว. กลุ่ม 3 การศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้เราถูกปิดหูปิดตาด้วย 2 วลี คือ การฮั้วไม่ผิด และการสมัครผิดกลุ่มไม่ผิด ทั้งที่สองเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ ที่มีการกำหนดกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และให้มีการจับสลาก เจตนาเพื่อป้องกันการฮั้วที่จะทำได้ยาก แต่เมื่อมีการประกาศว่าสมัครผิดกลุ่มไม่ผิด จึงเป็นการทำลายระบบทั้งหมด เพราะการจัดตั้ง นำคนมาจำนวนมากๆ เกณฑ์มาง่าย แต่การที่จะเกณฑ์คนมาตรงกลุ่มอาชีพได้เยอะๆ ทำยาก การอนุโลมให้สมัครไม่ตรงกลุ่มได้จึงเป็นการส่งเสริมการจัดตั้ง ซึ่งตั้งแต่การรับสมัครมาจนปัจจุบัน กกต.ยังไม่เคยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนเลย จะตรวจเฉพาะคนที่ถูกร้องเรียนเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การที่เรียกร้องให้เปิดหีบลงคะแนน เพราะต้องการเช็กว่าการจัดตั้งมีจริง แล้วจึงค่อยไปตรวจสอบคุณสมบัติของคนที่มาไม่ตรงกลุ่มว่าเป็นอย่างไร ถ้า 2 เรื่องนี้มันสอดคล้องกันจริง การจัดตั้งทั้งหมดก็ผิดตามระเบียบ จึงอยากให้กกต.เปิดหีบบัตรลงคะแนนเพื่อเช็คร่องรอย
ด้าน นายยศพัทธร์ ปรมัตถ์กิจการ ผู้สมัคร ส.ว. กลุ่มที่ 9 ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม เข้ายื่นต่อ กกต.เพื่อสอบถามความคืบกรณีขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติหรือเงื่อนไขของผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 9 โดย นายยศพัทธร์ กล่าวว่า ก่อนการเลือกส.ว.ระดับประเทศ ตนเคยมายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว. กลุ่ม 9 ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่จะสมัครกลุ่มนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาปี 2558 ที่กำหนดคุณลักษณะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และกฎกระทรวงที่ระบุลักษณะวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ในปี 2562 กำหนดว่า ถ้าเป็นธุรกิจภาคการผลิตต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่าผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ เชี่ยวชาญในอาชีพนัั้นๆ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระดับอำเภอตนได้เข้าไปดูโปรไฟล์ผู้สมัครแต่ละคนในแต่ละจังหวัด ปรากฏว่า มีจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการเข้ามาสมัคร และมีบางคนที่เขียนในใบ สว.3 ว่า เป็นเจ้าของบริษัท แต่เมื่อเช็กดูไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ เลย แสดงว่า คนนั้นไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการเกิน 10 ปี ทั้งนี้ เมื่อถึงขั้นตอนสมัครทาง กกต.จังหวัด ไม่ได้มีการให้ยื่นเอกสารประกอบการสมัครว่าคนนี้มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทหรือไม่ หรือเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่
นายยศพัทธร์ กล่าวอีกว่า เมื่อตนได้รับเลือกให้มาเลือกในระดับจังหวัด ตนเองก็เคยมายื่นเรื่องนี้ต่อ กกต.กทม. แต่เจ้าหน้าที่แค่รับเอกสารไป ไม่ได้มีการดำเนินการอะไร จนปล่อยปละละเลยให้คนที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเข้ามาเลือกคนอื่น เช่น วันนั้นที่ตนอยู่ในเหตุการณ์มีผู้สมัครที่ได้รับเลือกมีคะแนนผิดปกติ 2-3 คน จากนั้นเพื่อความเป็นธรรมตน จึงได้ไปยื่นต่อศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง จนศาลได้มีคำสั่งว่า ผู้สมัครไม่มีอำนาจหรือกฎหมายที่จะไปยื่นให้ตรวจสอบลบรายชื่อผู้สมัครคนอื่น ดังนั้น วันนี้ที่ตนมาเพื่อจะมายื่นสอบถามความคืบหน้าเรื่องที่เคยยื่นไปก่อนหน้านี้ พร้อมกล่าวโทษผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 74 พ.ร.ป.ว่าด้วยได้มาซึ่ง ส.ว. คือ รู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่มาสมัครโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดทางอาญาโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี จึงขอกล่าวโทษคนกลุ่มนี้ที่เกาะกลุ่มกันมาแล้วมาเลือกคนอื่นสร้างความเสียหายให้กับประชาชน