นายกฯ ลุยฝนภูเก็ตเข้าพื้นที่ดินสไลด์ สั่งเร่งทำฟลัดเวย์ แก้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น พร้อมนำแผนที่พื้นที่สีแดง เสี่ยงดินสไลด์ หารือปลัด ก.ทรัพย์ วางแนวทางป้องกันระยะยาว
วันนี้ (5 ก.ค.) ต่อมาเวลา 14.20 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางต่อมาที่ บ้านหัวควนใต้ อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต พื้นที่ดินสไลด์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการภูเก็ต อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และอธิบดีกรมทางหลวง ร่วมคณะ และบรรยายสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากจากที่มีฝนตกหนักหลายวันทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนเป็นเหตุให้ดินสไลด์หลายจุด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 18 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอ
นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แก้ปัญหาที่จำเป็นและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเรื่องของการทำฟลัดเวย์ หรือทางระบายน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอแผนที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อไปหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะจะต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น เพราะช่วงนี้ฝนก็ตกตลอดและยาวไปจนถึงเดือนกันยายน ต้องหาแนวทางป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ชาวบ้าน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ พร้อมระบุว่า อยู่มา 60 ปี เพิ่งเคยมีดินสไลด์ ในครั้งนี้ และขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตนเอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มาดูสถานที่จริงแล้ว มีหลายมาตรการที่ต้องทำ โดยระยะสั้นเราต้องมาดูว่าพื้นที่ตรงนี้ เพราะช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ฝนจะมีปริมาณมากกว่านี้อีก ชาวบ้านบอกว่าอยู่ที่นี่มากว่า 60 ปี ไม่เคยเจอ พอมาเจอหนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ และเราก็ไม่อยากตั้งอยู่บนความประมาท เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำฟลัดเวย์ เรื่องการขยายร่องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกมาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น
ส่วนระยะกลาง และระยะยาว จะต้องมีการตั้งศูนย์เตือนภัย แต่ชาวบ้านบอกว่าน้ำมันมาเร็ว แต่การเตือนภัยก็อาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องมาดูแผนที่ทั้งหมด ว่า จุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ตรงนี้เพียงพื้นที่เดียว เพราะเท่าที่ดูจากแผนที่จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอีกหลายจุด อย่างน้อย 7-8 จุด ที่เราต้องดูแลทั้งการทำฝาย ฟลัดเวย์ เขื่อน หรือขั้นบันได เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ให้ช้าลงซึ่งตรงนี้เป็นแผลระยะกลางและระยะยาว
เมื่อถามว่า บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดดินสไลด์ จะมีแนวทางป้องกันหรือช่วยเหลืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข ในเขตที่มีความสุ่มเสี่ยง แผ่นดินถล่ม และต้องมาศึกษาและดูว่า เราจะมีการแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้ามีหนทางแก้ไขได้ก็จะไม่กระทบกับชาวบ้าน
เมื่อถามว่า การบริหารจัดการของจังหวัดที่สามารถแก้ปัญหาได้ภายในวันเดียว มีความพอใจแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างที่บอก 60 ปีไม่เคยเจอ ก็เห็นใจ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า เมื่อเข้าช่วงต้นฤดูฝนเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ช่วงกลาง และช่วงปลายฝนจะชุกมากกว่านี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก และไม่ใช่ดูแค่พื้นที่ตรงนี้เพียงแห่งเดียว ยังมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมาก คืนนี้จะได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ บริหารจัดการเรื่องนี้ทั้งหมด
เมื่อถามว่า จะมีการนำแผนพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 54 จังหวัด เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งผลักดันให้เสร็จโดยเร็วหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องเร่งด่วน ตนเชื่อว่าข้าราชการทุกคน เข้าใจถึงความเร่งด่วนอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้รอบคอบและสามารถควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งตนเชื่อว่าทั้งปลัดและอธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดูแลอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า พื้นที่ลุ่มต่ำมีบ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างขวางทางน้ำจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ต้องยึดตามกฎหมาย และแผนการก่อสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามในแผนการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหา ต้องดูทั้งหมด ทั้งเรื่องฟลัดเวย์ การขยายทางเดินน้ำใหม่
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาติดตามการระบายน้ำที่คลองระบายน้ำบริเวณหน้าไปรษณีย์กมลา โดยจุดนี้มีประชาชน ที่ทราบข่าวว่านายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ได้ตะโกนเรียกนายกฯและขอถ่ายรูปด้วยความดีใจ