เมืองไทย 360 องศา
เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว เชื่อว่าอีกไม่กี่วันทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง คงจะมีการประกาศรับรอง 200 ส.ว.ไปก่อนแล้วค่อยสอยทีหลัง หากพบมีการทุจริต ตามรายงานบอกว่า ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประสานทางรัฐสภาให้มีการรายงานตัวของ ส.ว.ชุดใหม่ในวันที่ 7 กรกฎาคม กันแล้ว
ภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับเลือก เป็นสว. จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน ปรากฏว่า ที่ผ่านมามีการเข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกสว.จำนวนมาก โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แถลงสรุปภาพรวมการเลือกสว.ในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวน 614 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อ คิดเป็น 65% ส่วนคำร้องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตาม มาตรา 77 ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ ลงคะแนน ขณะที่การร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3%
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 -2 ก.ค. ทางกกต. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องเหล่านี้ตลอดทั้ง 2 วัน และเนื่องจากเรื่องร้องเรียนมีจำนวนมาก และเพิ่มเรื่อยๆ จากวันที่มีการแถลงเมื่อหลายวันก่อน จึงยังมีสัญญาณว่า กกต.จะประกาศรับรองรายชื่อสว.ได้ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ แต่มีรายงานว่า ทางคณะกรรมการได้นัดประชุมหารือกันต่อในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ในช่วงบ่าย โดยมีสั่งการให้สำนักงานกกต.จัดเตรียมรายละเอียดข้อมูลในทุกๆ ด้านเพิ่มเติมทุกๆ ด้าน และมีกระแสข่าวว่า กกต.จะสามารถรับรองสว.ได้ในต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งสอดคล้องกับที่มีรายงานว่า ทางสำนักเลขาวุฒิสภา ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับรายงานตัวสว.ใหม่ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า
ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่า ทางกกต.จะสามารถรับรองสว.ใหม่รวดเร็วทั้ง 200 คน แล้วค่อยมาตามสอยคนที่มีปัญหาในภายหลัง หรือรับรองเพียงบางส่วนที่ไม่มีปัญหาไปก่อนข้อสงสัยหรือไม่นั้น มีรายงานว่า การพิจารณาว่าใครทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตการเลือกสว.นั้น ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผิดจริงๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดมากพอที่จะสั่งเอาผิด หรือ ลบชื่อออกได้ในทันที ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล หลักฐาน การหาหลักฐานเพิ่มเติม การประสานหน่วยงานนอกที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ดังนั้นขณะนี้จึงต้องจัดหมวดหมู่คำร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกสว. ว่าเป็นเรื่องอะไร อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการตรวจสอบการเลือกตั้ง หรือเลือกสว. ก็ตาม ไม่ได้มีกฎหมายระบุชัดว่าให้ทำให้เสร็จภายในระยะเวลากี่วัน กี่เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว กกต.จะดำเนินการราวๆ 1 ปี
เมื่อวันพุธ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุถึงกระแสข่าวการเลื่อนประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คนว่า อย่าใช้คำว่าเลื่อน แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการประกาศรับรอง สว.
ส่วนในวันนี้จะพิจารณาคำร้องแล้วเสร็จหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ไม่เสร็จ แต่หากยังไม่เสร็จก็มีหลักที่จะสามารถประกาศรับรองได้ หากเห็นว่าสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถรับรอง สว.ได้ ณ เวลานี้คือเรื่องใด ประธาน กกต.กล่าวว่า ตามแผนการที่จะประกาศรับรองวันที่ 3 ก.ค. จะประกาศก็ต่อเมื่อ กกต.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แนวเรื่องต่างๆ แล้วเสร็จ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการเลื่อน แต่ยังไม่เสร็จ จึงเป็นการทำให้เสร็จแล้วจะประกาศ
สำหรับการรับรองที่จะสามารถดำเนินการได้หลังวันเลือกระดับประเทศ 5 วันนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า เรื่องนี้เมื่อเลือกแล้วให้รอภายใน 5 วัน ดังนั้นจึงไม่ใช่อย่างที่เข้าใจ ซึ่ง กกต.ก็ตรวจสอบในสิ่งที่ได้รับร้องเรียนเบื้องต้น จากนั้นก็จะประกาศได้ ขออย่าใช้คำว่าเลื่อน เมื่อถามว่า สัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จและสามารถประกาศรับรองได้หรือไม่ ประธาน กกต.ไม่ตอบคำถาม
หากพิจารณากันตามนี้ เชื่อว่าภายในกลางสัปดาห์หน้า หรืออย่างช้าที่สุดคงไม่เกินสัปดาห์หน้าทางกกต.คงจะมีการประกาศรับรอง ส.ว.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะรับรองทั้ง 200 คน และหากพบหลักฐานการทุจริตก็จะ “สอย” ภายหลังในเวลา 1 ปี
สำหรับการคัดเลือกส.ว.ชุดใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตา และเรียนรู้ใหม่ เนื่องจากตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้มาจากหลากหลายอาชีพ และมีที่มาต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. รวมไปถึงไม่ได้กำหนดวุฒิการศึกษา ทำให้เราได้รับรู้ถึงว่าที่ ส.ว.หลายคนที่มาจากอาชีพแบบ “บ้านๆ” เช่น สื่อเสียงตามสาย อาชีพเย็บผ้า หรือ มีความรู้ระดับชั้นประถมเท่านั้น เช่น จบชั้นประถมปีที่ 7 เป็นต้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งพวกเขามีประสบการณ์ชีวิต ผ่านโลกมามากมาย
อีกทั้งการประกอบอาชีพชาวสวน ชาวไร่ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สามารถทำหน้าที่ในสภาด้อยประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามพวกเขาอาจทำหน้าที่ได้ดีเกินคาดก็เป็นไปได้ เพราะที่ผ่าน เราเคยมี ส.ว.ประเภทเลือกตั้งโดยตรง และได้ “สภาผัวเมีย” ที่สร้างความ “อัปยศ” ให้เห็นมาแล้ว
แน่นอนว่า การคัดเลือก ส.ว.คราวนี้ มีเสียงวิจารณ์ในเรื่องการทุจริต เรื่องฮั้ว จนมีการระบุว่า ว่าที่ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็น “สว.สีน้ำเงิน” ก็ว่ากันไป เพราะในข้อเท็จจริงมันก็มีรายงานว่า “ฮั้วกันทุกสี” นั่นแหละ เพียงแต่ระบบการจัดการใครครอบคลุมครบวงจรได้มากกว่ากัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้เกียรติและเคารพการคัดเลือกของพวกเขาเหมือนกัน และเมื่อฟังจากหลายเสียงก็เริ่มมีการพูดไปในทางเดียวกันว่าสมควรให้โอกาส ส.ว.ชุดนี้ได้พิสูจน์ผลงานไปก่อน หากพบหลักฐานความผิดก็ค่อยสอยกันภายหลังได้อยู่แล้ว
เพราะบางที ส.ว.ที่มีที่มาหลากหลายไม่คุ้นหูคุ้นตา มากกว่า ส.ว.ที่เคยมาจากการเลือกตั้ง มีความรู้ระดับสูงขั้นด็อกเตอร์ มีปริญญาหลายใบ ก็ใช่ว่าจะมีหลักประกันในด้านผลงานที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยได้เห็นเป็นบทเรียนมาแล้ว ดังนั้นมันก็ต้องลอง ส.ว.ป.7 กันบ้างมันก็ดีเหมือนกัน !!