xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายนานาชาติ หนุนเก็บภาษี'ความเค็ม' หวังคนไทยลดบริโภคเค็ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนมาตรการลดบริโภคเค็ม หนุนไทยตั้งเป้าหมายลดบริโภคเค็มลง 30% ในปี 68 หลังพบคนไทยบริโภคเค็มสูงถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อสูงถึง 7 หมื่นรายต่อปี เร่งนโยบายเก็บภาษีความเค็มเพื่อลดความเสี่ยงผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ

วันนี้(3ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประ
เทศไทย และองค์กร Resolve to Save Lives จัดการประชุมเชปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเร่งรัดขับเคลื่อนมาตรการลดบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม, กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , กรมสรรพสามิต และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และเครือข่ายวิชาการ เป็นต้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลดบริโภคเค็มและเร่งผลักดันนโยบายสาธาร ณะ เพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประเทศไทย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการดำเนินมาตรการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประเทศไทยกับเครือข่ายสุขภาพทั่วโลก เพราะปัญหาการบริโภคเกลือและโซเดียมถือเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การลดบริโภคเกลือและโซเดียม เป็น 1 ใน 9 เป้าหมายระดับโลกในการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ภายใน พ.ศ.2568 โดยกำหนดให้ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% ภายใน พ.ศ. 2568

ขณะที่สถานการณ์การบริโภคโซเดียมในคนไทยจากผลสำรวจของเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ปี 2562-2563 ด้วยวิธีเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง พบว่าค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมในระดับสูง เป็นปัจจัยสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สูงถึงปีละ 78,976 ล้านบาท จากโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 24,489 ล้านบาทจากโรคเบาหวาน ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไต โดยการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ ดังนั้นเพื่อปรับลดพฤติกรรมการบริโภคเค็ม ประเทศไทยกำลังผลักดันการใช้มาตรการภาษีความเค็ม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในสังคม ซึ่งมีบทเรียนจาก 5 ประเทศที่บังคับใช้มาตรการภาษีความเค็มแล้ว ประกอบด้วย ฮังการี เม็กซิโก ฟิจิ ตองกา และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์

“กรณีฮังการี หลังบังคับใช้มาตรการภาษีความเค็ม ส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคเค็มลงร้อยละ 13.8 และร้อยละ 40 ของผู้ประกอบการ มีการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ของตนเอง และร้อยละ 30 เลิกใช้เกลือ ขณะที่ร้อยละ 70 ลดปริมาณการใช้เกลือ น้ำตาล และไขมันลงมา”

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายเรามุ่งเน้นผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะในระดับประเทศในเรื่องการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประชากรไทย รวมทั้งสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรการลดการบริโภคโซเดียม โดยได้มีการรณรงค์ให้มีการปรับสูตรลดโซเดียมในอาหาร ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกสุขภาพเพิ่มขึ้น. อย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพบว่าการลดโซเดียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในท้องตลาด และยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังคงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ทุกปี แสดงให้เห็นว่าการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณโซเดียมลดลง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงและมีทางเลือกในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

" ในปีนี้เครือข่ายลดบริโภคเค็มมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการใช้ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการทางภาษีความเค็มเพื่อสร้างแรงจูงให้กับผู้ประกอบการในการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม สร้างทางเลือกให้ประชา ชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น"

ด้านพญ.เรณู การ์ก ผู้เชี่ยว ชาญจาก Resolve to Save Lives ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในการป้องกันและลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในต่างประเทศ กล่าวว่า การบริโภคโซเดียมสูงทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 หมื่นรายในประเทศไทย ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นปัญหาร้ายแรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและประสานความร่วมมือกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต้องลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงและโรคที่เกี่ยว ข้องจากการปริมาณโซเดียมลง ซึ่งยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ และเชื่อว่าประเทศ ไทยจะบรรลุเป้าหมายการลดโซเดียมได้

“น่าชื่นชมประเทศไทยที่ได้กำหนดเป้าหมายในการลดการบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 เพื่อลดความสูญเสียและปกป้องประชาชนจากโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคไต จึงขอสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือดังกล่าว และเห็นว่าควรจะพิจารณาการดำเนินมาตรการภาคบังคับเพิ่มเติม เช่น กำหนดเพดานปริมาณโซเดียม การมีฉลากคำเตือนอาหารที่มีโซเดียมสูง และการเก็บภาษีความเค็ม”

ส่วน Dr.Olivia Nieveras ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ( WHO Thailand ) กล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคโซเดียมในปริมาณสูง และเป็นภาระทางด้านสาธารณ สุขที่สำคัญระดับโลก แม้แต่ประเทศไทยก็ได้ขับเคลื่อนกลยุทธ์และนโยบายเกี่ยวกับการลดปริมาณเกลือและโซเดียมระดับชาติ แต่ยังพบความท้าทายในการดำเนินงาน เพราะประชาชนยังคงบริโภคโซเดียมเกินกว่าข้อแนะนำ จึงเห็นว่าควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิเช่น การเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภค บังคับใช้มาตรการฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์อาหาร และขับเคลื่อนนโยบายทางราคาและภาษีเพื่อการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารของภาคเอกชน


กำลังโหลดความคิดเห็น