“สมชาย” ซัด กกต.ทำพิธีกรรมชะลอประกาศรับรองผลเลือก ส.ว.แต่ไม่ตรวจสอบจริง แถมยังไม่ถามหาหลักฐาน ทั้งที่ส่งให้แล้ว 2 สัปดาห์ก่อน เผย กกต.ประสานให้สำนักงานเลขาฯ วุฒิสภา เตรียมรับรายงานตัววันที่ 7 ก.ค.นี้ พร้อมเตรียมห้องทำงาน ส.ว.ใหม่
วันนี้ (3 ก.ค.) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานมายังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ให้จัดเตรียมสถานที่รับรายงานตัวบุคคลที่ได้รับการประกาศให้เป็น ส.ว. 200 คน และห้องทำงานให้ ส.ว.ใหม่ ในวันที่ 7 ก.ค.นี้ ดังนั้น กรณีที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า วันนี้ (3 ก.ค.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือก เพราะต้องพิจารณาคำร้องให้เสร็จสิ้นก่อนนั้น เป็นเพียงพิธีกรรม และไม่มีการตรวจสอบกรณีที่ถูกร้องจริง
“ขณะนี้วุฒิสภาทราบแล้ว และ ส.ว.ทราบว่าถูกไล่ ซึ่งวันนี้ผมเข้ามาเก็บของให้แล้ว ส่วนที่ กกต.บอกว่าจะตรวจ ยืนยันไม่มีการตรวจ กลับมาถามอีกว่า ไหนละหลักฐาน เขาไม่เปิดตาตรวจจะเจอได้อย่างไร หรือลงไปตรวจในพื้นที่เองหรือไม่ หรือเชื่อแต่ฝ่ายเลขาธิการ กกต. ซึ่งผมมองว่า หาก กกต. ไม่ตรวจ ฟังแต่เจ้าหน้าที่รายงานอย่างเดียว ก็ไม่เห็นอะไร” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักฐานการทุจริตเลือก ส.ว. ทาง กมธ.ได้ส่งรายละเอียดไปยัง กกต. แล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และตนขอเรียกร้องให้ตรวจสอบ คือ 1. คลิปวิดีโอซึ่งเป็นหลักฐานการทุจริตการเลือก ส.ว.ที่วัดแสงจันทร์ อ.ปางกู่ จ.ศรีสะเกษ ที่นักการเมืองและบุคคลที่ใกล้ชิดแจกเงินให้กับบุคคลหลังวันโหวตระดับอำเภอ ซึ่งพบว่า คนใกล้ชิดของนักการเมืองนั้น ลงสมัครเป็น ส.ว.ด้วย ซึ่งสามารถผ่านเข้ารอบไปสู่ระดับประเทศ แต่สอบตกระดับประเทศ เนื่องจากถูกแฉการกระทำพร้อมหลักฐานการทุจริตเลือก ส.ว.ได้ก่อน
2. กรณีที่มี 2 ส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่ ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ จัดเลี้ยงในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เลือก ส.ว. ซึ่งพบว่าในงานดังกล่าวมีน้องสะใภ้ของ ส.ส.ดังกล่าว และบุคคลที่ลงสมัคร ส.ว. เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย ซึ่งภายหลังพบว่าคนเหล่านั้นผ่านเข้ารอบระดับประเทศด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการทุจริตการเลือก ส.ว. กรณีที่พบการจัดเลี้ยง
3. กรณีที่เกิดขึ้นใน จ.บุรีรัมย์ จากผลการลงคะแนน ที่ไม่ลงคะแนนให้กับตัวเอง หรือศูนย์คะแนน และ 4. กรณีการเลือก ส.ว. ในจังหวัดตรัง ที่พบการเทคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ว.ที่มาจาก อ.ห้วยยอด
“ผมขอเรียกร้องให้ กกต. สอบทั้ง 4 เรื่อง โดยอย่าบอกว่าไม่มีหลักฐาน เพราะ กมธ.ส่งให้แล้ว หาก กกต.ต้องการตรวจสอบหรือต้องการพยาน หลังจากที่ กมธ.พ้นวาระไปแล้ว สามารถเรียกได้จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ดังนั้น หาก กกต. ไม่ดำเนินการ และยืนยันว่า การเลือก ส.ว.นั้น ถูกต้องชอบธรรม เชื่อว่า จะมีผู้เสียสิทธิไม่ถูกเลือกเพราะถูกโกงนั้น จะฟ้อง กกต.แน่นอน ฐานที่ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้การเลือกไม่สุจริตเที่ยงธรรม ดังนั้น กกต.ยังมีเวลาที่จะตรวจสอบ ไม่ใช่อ้างว่าไม่เห็น” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวย้ำด้วยว่า ในกระบวนการเลือก ส.ว. ตนมองว่า กกต.ออกระเบียบการเลือกที่ไม่สุจริต ก่อให้เกิดการตีความ ขยายความไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากผู้เชี่ยวชาญใน 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมือง ทั้งนี้ ในการเลือก ส.ว. ปี 62 นั้น กกต. เคยออกระเบียบเกี่ยวกับการรับสมัคร ส.ว. ตามกลุ่มอาชีพที่กำหนดให้องค์กร หน่วยงาน วิชาชีพนั้นรับรองก่อนส่งสมัคร แต่ปัจจุบันเปิดช่องให้ประชาชนรับรองกันเอง จึงเป็นเหตุที่ทำให้เห็นว่ามีผู้สมัครที่ไม่ตรงกับสาขาอาชีพลงสมัครเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อว่า ในบรรดาผู้สมัครกว่า 4 หมื่นคน มีผู้ที่สมัครไม่ตรงคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดถึง 2.5 หมื่นคน ดังนั้น กรณีที่ กกต.บิดเบือนกระบวนการสมัครดังกล่าว ทำให้การเลือกส.ว.ไม่ชอบและเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น