เมืองไทย 360 องศา
ทำไปทำมาเรื่องปัญหา “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำในเวลานี้ และหากยังแก้ปัญหาไม่ได้ในเร็ววันนี้ หรืออย่างน้อยต้องสร้างความรู้สึกให้ได้ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว แต่หากชาวบ้านยังรู้สึกว่ายังไม่แก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้ นั่นแหละ คือหายนะของรัฐบาลโดยแท้
เพราะอย่างรู้กันดีว่าเรื่อง “ปากท้อง” เป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับชาวบ้านมากที่สุด นอกเหนือจากเรื่องทุจริต โดยในเวลานี้ ปัญหาปากท้องกำลังเริ่มกลายเป็นกระแสที่กำลังมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวลานี้เรื่อง “แพงทั้งแผ่นดิน” กำลังถูกกล่าวถึงแบบกระจายออกไปเรื่อยๆ จนเวลานี้เริ่มกลายเป็น “กระแส” มีการพูดกันแบบปากต่อปากมากขึ้น
ขณะเดียวกัน แม้ว่าหากพิจารณากันอย่างเป็นธรรมแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จากปัญหาต่อเนื่องจากโรคระบาด โควิด ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งของมหาอำนาจ และนำไปสู่ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปหมด ซึ่งประเทศไทยก็ต้องโดนเข้าไปเต็มๆ
แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน แล้วถือว่ามี “ความคาดหวัง” เอาไว้สูงลิ่ว เพราะก่อนหน้านี้ “โม้เอาไว้เยอะ” ทั้งคำพูดที่ว่า “คิดใหญ่ทำเป็น” หรือเป็นมืออาชีพในเรื่องเศรษฐกิจ พร้อมกับออกนโยบายที่สร้างความหวังมากมาย แต่กลายเป็นว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ผ่านมาเกือบปีแล้ว ก็ยังถูกมองว่ายังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือ ไม่ก็กลายเป็นว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เช่น ถามช้างตอบม้า คนละเรื่องอะไรประมาณนี้
สิ่งที่สะท้อนความพึงพอใจของชาวบ้านได้ดีที่สุด ก็คือ ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ที่ระบุว่า ชาวบ้านยังไม่พอใจในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมิถุนายน 2567 เฉลี่ย 4.33 คะแนน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ได้ 4.72 คะแนน
ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 4.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 3.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 43.86 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 54.56 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ร้อยละ 39.31 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ อภิปรายงบประมาณ 68 ร้อยละ 40.26
ข่าว/ประเด็นที่ประชาชนสนใจติดตามในเดือนมิถุนายน อันดับ 1 คือ ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ร้อยละ 45.43 รองลงมาคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 32.07 และ ความขัดแย้งวงการตำรวจ ร้อยละ 22.50
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยเดือนมิถุนายน 2567 แสดงถึงความรู้สึกไม่พึงพอใจเท่าใดนักของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เมื่อปากท้องมีปัญหาจึงฉุดให้ดัชนีเกี่ยวกับเศรษฐกิจคะแนนดิ่งลง อีกทั้งกระแสแคลงใจเรื่องการเลือกตั้ง สว. ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนด้วย รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ปัญหาหลักของประชาชน เช่น ความยากจน ราคาสินค้า การว่างงาน และค่าครองชีพ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเรียกการสนับสนุนจากประชาชนให้เพิ่มขึ้นโดยไม่หวังใช้เพียงความนิยมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียกได้ว่าภาพรวมดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ “ปากท้องคับข้องใจ การเมืองก็ไม่สดใส” เท่าที่ควร
ด้าน ผศ.กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในภาพรวมของเดือนมิถุนายนนั้น ลดลงจากเดือนพฤษภาคมอย่างเห็นได้ชัดในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและด้านค่าครองชีพของประชาชนที่ลดลงต่ำสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยทั้งการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องของสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งพลังงาน ข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ความไม่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือข่าวการเร่งแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และมีกรรมสิทธิ์ถือครองคอนโดมิเนียมเพิ่มเป็น 75% จากเดิม 49% อาจส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต
“ความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่าประเด็นราคาสินค้าและค่าครองชีพเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจมากที่สุดในเดือนมิถุนายน ยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลของภาคประชาชนต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หลังจากผ่านมาแล้ว 9 เดือนของการทำงาน” ผศ.กัญญกานต์ ระบุ
หากพิจารณาจากผลสำรวจดังกล่าว เน้นย้ำในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องมากเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” ของชาวบ้านมากที่สุด และที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาล หากมีปัญหาเรื่องนี้เมื่อไหร่ก็ย่อมมีผลกับการเลือกตั้งในครั้งต่อไปแน่นอน เพราะเมื่อเริ่มจากเรื่องปากท้อง ของแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ละสิ่งที่เห็นในเวลานี้ก็มีแต่เสียงบ่นเรื่อง “ของแพง” อยู่ทุกวัน
อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ถือว่าเป็น “งานยาก” และเป็นสัญญาณอันตรายกับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้านพอใจให้เร็วที่สุด และที่สำคัญมีฝ่ายตรงข้ามที่เป็น “คู่แข่ง” อย่างพรรคก้าวไกลที่มีคะแนนความนิยมทิ้งห่างไปไกลสุดกู่แล้ว ซึ่งหากมองตามรูปการณ์แล้วยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ตรงกันข้ามมีแต่จะทิ้งดิ่งลงลึกไปกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ดังนั้น แม้ว่าเรื่องปัญหา “ปากท้อง” เป็นเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง แต่มันก็เชื่อมโยงไปในเรื่องการเมืองเข้าไปเต็มๆ เพราะหากรัฐบาลยังแก้ไม่ได้ หรือไม่อาจสร้างรู้สึกที่ดีกับชาวบ้าน มันก็เหมือนหายนะ ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเวลานี้ยังไม่เห็นแววฟื้น มีแต่จะถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ !!