กลุ่มผู้สมัคร ส.ว. เรียงแถวร้อง กกต.สอบคุณสมบัติว่าที่ ส.ว. 200 คน ขู่ฟ้อง 157 หากประกาศรับรอง 3 ก.ค. โชว์หลักฐานบัตรลงคะแนน ลงหมายเลขตรงโพยเป๊ะ
วันนี้ (1 ก.ค.) กลุ่มผู้สมัคร ส.ว.นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 2 ยื่นหลักฐานต่อ กกต.ที่เกี่ยวข้องกับการบล็อกโหวตการเลือก ส.ว. โดย พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือต่อ กกต.โดยขอให้ทำการตรวจสอบว่าที่ ส.ว. 111 คน และยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกาศรับรองผลผู้ที่ได้เป็น ส.ว.รวมถึงรายชื่อสำรองด้วย เนื่องจากค้นพบความผิดปกติในการลงคะแนน โดยเฉพาะการเลือกไขว้ ซึ่งมีลักษณะการลงคะแนนเป็นชุดๆ โดยใบลงคะแนนมีหมายเลขเหมือนๆ กัน โดยพล.ต.ท.คำรบ ยกตัวอย่างโดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายการลงคะแนนในช่วงเลือกไขว้ในสาย ง. โดยพบว่า ผู้สมัครกลุ่มที่ 19 ลงคะแนนให้กลุ่มที่ 2 ที่มีการลงคะแนนให้กับหมายเลขเหมือนๆ กัน จำนวน 4-5 ใบลงคะแนน และเมื่อนำไปเทียบกับโพยที่ตนเก็บได้ พบว่า เบอร์ที่เขาลงคะแนนตรงกับโพยทุกเบอร์
“หลักฐานนี้ชี้ชัดได้ว่า มีการจัดตั้งกลุ่มในการลงคะแนน โดยในวันเลือกรอบไขว้กลุ่มผู้สมัครที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะจัดกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน และจะเลือกคนในกลุ่ม และยังมีผู้สมัคร ส.ว.ที่ไม่ลงคะแนนในกับตัวเอง แต่ลงคะแนนให้กับผู้ที่เป็นเป้าหมาย”
พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า ตนยื่นหลักฐานเพื่อขอให้ กกต.ใช้อำนาจในการเปิดกล่องนับคะแนนใหม่ โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจหาพิรุธการลงคะแนนเป็นกลุ่ม ซึ่งผิดปกติวิสัย ขณะนี้หลักฐาน คือ ใบลงคะแนนที่ กกต.เก็บไว้ในกล่องจำนวน 40 กล่อง ถ้าตรวจสอบโดยใช้วิธีนี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 4 ชม. ซึ่งจะทำให้ทราบว่าใครลงคะแนนให้กับใครบ้าง หากการยื่นหนังสือในวันนี้ กกต.ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ ก็จะยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจทางปกครอง และบังคับให้ กกต.ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง และถ้า กกต.ยังดื้อดึงประกาศรับรองผล ส.ว. จะยื่นร้องต่อศาลฎีกา และจะร้องตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
เมื่อถามว่า กกต.ระบุว่า โพยที่พบว่าอาจจะเป็นการทำการบ้านของผู้สมัคร ถ้าไม่มีหลักฐานว่าเอื้อประโยชน์ต่อกัน จะเอาผิดได้หรือไม่ พล.ต.ท.คำรบ กล่าวว่า การให้ประโยชน์นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องเงิน แต่ในเรื่องนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องของสัญญาว่าจะให้ตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นการให้ประโยชน์ต่อกันแล้ว อยากให้ กกต.ใช้ความกล้าหาญในการนับคะแนนใหม่ โดยเปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบด้วย
ด้าน นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มการศึกษา 3 กล่าวว่า การมายื่นต่อ กกต.ครั้งนี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบในการลงคะแนน เนื่องจากจะเห็นได้ชัดว่า การลงการลงคะแนนนั้นเป็นตัวเลขชุดๆ หมายเลขในใบลงคะแนนเหมือนกันนับ 10 ใบ จึงอยากให้กกต.ตรวจสอบเส้นทางของการลงคะแนนของกลุ่มคนเหล่านี้ เชื่อว่า เกี่ยวกับกลุ่มพรรคการเมือง ขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริง ถือว่าผิดกติกาในการเลือก ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัตินั้น ไม่ได้อยากให้ตรวจสอบเพียงรายคน เพราะตามขั้นตอน กกต.ต้องตรวจสอบคุณสมบัติทุกคนมาก่อนหน้านี้แล้ว หากอนุญาตให้มาสมัครในระดับอำเภอ ประเทศ แต่กลับพบปัญหาในระดับประเทศ ขณะที่ กกต.ยังไม่ได้ออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน
“จึงอยากให้ชะลอการประกาศรับรองว่าที่ แล้วกลับไปตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว. รวมถึงบัญชีสำรองอีกครั้ง เพราะเห็นคุณสมบัติแปลกๆ จากผู้สมัครหลายคน ที่มีฉายาว่า เสื้อลาย โปรไฟล์สั้น กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่น่าสงสัย โดยในวันเลือกรอบประเทศ กลุ่มนี้ใส่ชุดเหมือนๆ กัน คือ ชุดมินเนี่ยน จึงอยากให้ กกต.ไปตรวจสอบคุณสมบัติคนเหล่านี้โดยเฉพาะ”
ทั้งนี้ มีผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 9 ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า ก่อนการลงคะแนนในรอบประเทศ มีผู้สมัครกลุ่ม 19 โทรศัพท์มาหาตน แล้วถ้าถามมาให้เป็นโหวตเตอร์ เพื่อทำการลงคะแนนให้ตามหมายเลขที่กำหนดไว้ โดยแสดงเบอร์โทรศัพท์ต่อสื่อมวลชนด้วย
ขณะเดียวกัน นายพานิชย์ เจริญเผ่า ผู้สมัคร ส.ว.อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กลุ่มที่ 17 ประชาสังคม และองค์กรสาธารณประโยชน์ ยื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เป็นโมฆะ และไม่รับรอง นายชินโชติ แสงสังข์ เป็นสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มที่ 7 รวมถึงดำเนินคดีอาญาฐานใช้เอกสารเท็จมาลงสมัคร
นายพานิชย์ กล่าวว่า นายชินโชติ แจ้งเท็จเรื่องการศึกษา มีหลักฐานเป็นเอกสารราชการที่สามารถอ้างอิงในศาลได้ และเห็นว่าเรื่องการเลือกเป็นเรื่องที่มีการจัดตั้งกันอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามกฎหมาย และเจตนารมณ์ที่ตนต้องการ ดังนั้น ตนจึงปฏิเสธไปรับสมัครเลือก ส.ว. ระดับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นบุคคลเดียว และบุคคลที่ตนมาร้องนั้น ก็ลงสมัครในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมาขอคะแนนจากตน ตนมีหลักฐาน และไม่ได้ดำเนินการทั้งสิ้น ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นลูกน้องคนเก่าตนในด้านแรงงาน และปัจจุบัน นายชินโชติ หรือ นายประเทือง ก็เป็นนักศึกษาชุดปัจจุบันของ กกต.
ดังนั้น กกต สามารถตรวจสอบประวัติได้ไม่ยากนัก และใช้อำนาจหน้าที่เรียกมาสอบสวน และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป หาก กกต. ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คนต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ กกต. ทั้ง 7 คน ดังกล่าว ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า บุคคลที่มาร้องเกี่ยวข้องกับการฮั้วสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือไม่ นายพานิชย์ กล่าวว่า นายชินโชติ หรือ นายประเทือง เคยสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ ในพรรคที่ปัจจุบันมีอิทธิพล ฉะนั้น ย่อมผูกพันกันกับพรรคการเมืองดังกล่าว หากไม่จัดตั้งมา คงไม่ได้ 77 คะแนน ในระดับประเทศนั้น คงไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากไม่ได้มีบทบาท หรือโด่งดังอะไร ตนจึงมองว่า บุคคลคนนี้ ไม่สมควรได้เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกครั้งนี้
เมื่อถามย้ำว่า มองว่า ต่อไปนี้ กกต. จะต้องดำเนินการอย่างไร นายพานิชย์ กล่าวว่า ต้องระงับการรับรองบุคคลดังกล่าว หากรับรอง และเอกสารชัดเจน และไม่เรียกตนมาชี้แจงสอบสวน ถือว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ดังนั้น จึงต้องไปพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไปของของ กกต.