วันนี้( 28 มิ.ย.)ที่ จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา รศ.ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครราชสีมา ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2567 ณ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค.67
นายสุวัจน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมในการประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 4 ได้มีการประสานงานกับสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมกับ จ.นครราชสีมา ในการต้อนรับโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ประชุม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีห้องประชุมใหญ่ ที่มีสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีมาตรฐาน มีความพร้อมสําหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการต้อนรับต่างๆ ได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อย
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่าในช่วงที่มีการประชุม ครม. โดยได้ดําเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมเรื่อง soft power เรื่องของดีแต่ละจังหวัด เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทางด้านการท่องเที่ยว ที่โคราชถือว่าเป็นเมืองที่มีพื้นฐานทางด้าน soft power มากไม่ว่าจะเป็นภาษาโคราช ผ้าไหมโคราชอาหารโคราช เพลงโคราช มวยโคราช ฉะนั้น ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น ที่ทําในเรื่องของอาหารโดยเฉพาะอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง อาหารอีสาน ดังนั้น ท่านอธิการบดี จึงได้จัดเตรียมโต๊ะโคราช ไว้สําหรับการต้อนรับ ยกตัวอย่างเช่น ในการเสิร์ฟอาหารจะใช้กาบหมาก แทนจาน และเตรียมอาหารที่เป็นอาหารดั้งเดิม เช่น ต้มยําไก่บ้านใบมะขามอ่อน คั่วหมี่โคราช ไก่ย่างท่าช้าง ส้มตําโคราช เมี่ยงคําโคราช ลอดช่องไผ่ทองสยาม ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ กาแฟดงมะไฟ อาหารที่ได้มิชลินไกด์ ขนมจีนบ้านประโดก ของครูยอด ลาบหมู ร้านลาบสมพิศ และร้านอร่อยดังของเมืองโคราช อย่าง กุ้งดอง จากภัตตาคารเสี่ยวเสี๊ย ข้าวมันไก่ จากร้านรักกาแฟ ก๋วยเตี๋ยวจากร้านหอมโอชา สิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้าจีไอ ที่มีชื่อเสียงของ จ.นครราชสีมา ฉะนั้น ในเมนูอาหารต่างๆ ทางราชภัฏ ต้องการที่จะโปรโมทในส่วนนี้ และต้องการที่จะต่อยอด เพื่อให้ครัวโคราช ครัวอีสาน ครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดรับกับพื้นฐานของการที่จะส่งเสริมอาหารไทยไปสู่อาหารโลก
ดังนั้น ทางราชภัฏโคราช ได้ร่วมกับทางจังหวัด ทําโครงการในการที่จะสร้างศูนย์กลางการประกอบอาหารนครชัยบุรินทร์ คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เป็นศูนย์กลางในการประกอบอาหาร ช่วยผู้ประกอบการว่าใครอยากจะเป็นเชฟดังๆ ใครอยากที่จะต่อยอดให้เป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าของภัตตาคาร หรือใครอยากจะเรียนรู้อาหารต้นตําหรับต่างๆ ของภาคอีสาน ต่อไปก็จะมาเรียนที่นี่ได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ท่าน ผวจ.นครราชสีมา ได้พิจารณาที่จะนําเสนอคณะรัฐมนตรี ประกอบกับส่วนอื่นๆของการจังหวัด และส่วนนี้เป็นส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ดําเนินการ เพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เป็นนโยบายที่สําคัญของรัฐบาลในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อที่จะมาเพิ่ม GDP และช่วยเศรษฐกิจรากหญ้าในต่างจังหวัด
ฉะนั้น ทางราชภัฏได้ร่วมกับ จ.นครราชสีมา หยิบของดีเมืองโคราช คือ โคราชมีดินแดนสามมรดกของยูเนสโก อยู่ในพื้นที่ที่เป็น World Heritage หรือมรดกโลกที่เขาใหญ่ อยู่ที่ปากช่อง และพื้นที่สงวนชีวมณฑล สะแกราช อ.ปักธงชัย สองอันนี้ได้รับเกียรติจากยูเนสโกมาแล้ว และล่าสุด อันที่สาม คือ อุทยานธรณีโลก ในพื้นที่ 5 อำเภออำเภอได้แก่ อ.เมือง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนินอ.ขามทะเลสอ และอําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ทำโครงการ ที่เรียกว่า โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใน 3 ดินแดนของยูเนสโก ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเพราะว่าทั่วโลก 3 ดินแดนนี้ มีแค่ 4 จังหวัดใน 4 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่มีพื้นที่อย่างนี้ ฉะนั้นทางจังหวัดกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เห็นว่าอันนี้จะเป็นการสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับประเทศ เพื่อที่จะบูมเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะว่าที่โคราช ตอนนี้รัฐบาลได้ลงทุนเป็นแสนล้าน ในการสร้างมอเตอร์เวย์ มาโคราช สร้างรถไฟทางคู่ สร้างรถไฟความเร็วสูง ฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวางไว้เหมาะที่จะพานักลงทุน เหมาะที่จะพานักท่องเที่ยวมาเที่ยว ในพื้นที่พัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งทางท่านผู้ว่าฯ กับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมกับทางโครงการและก็นําเสนอคณะรัฐมนตรี ก็แล้วแต่คณะรัฐมนตรี จะพิจารณาเห็นสมควรอย่างไร ว่าจะเกิดประโยชน์อะไรให้กับทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายสุวัจน์ กล่าวว่าทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มีความพร้อมและคิดว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและภาคอีสาน หรือจังหวัดนครราชสีมา เพราะทางคณะรัฐมนตรี จะได้เห็นสภาพรายละเอียด สภาพข้อเท็จจริง แล้วมาติดตามโครงการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการประโยชน์ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงต่อไป
ด้านนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่าสําหรับการประชุมครม. สัญจรครั้งนี้ สิ่งที่พี่น้องชาวโคราชจะได้ประโยชน์มี 2 ลักษณะคือ 1.โครงการที่ทําเสร็จภายในหนึ่งปี ซึ่งภายในหนึ่งปีรัฐบาลให้กรอบมอบเงินงบประมาณจังหวัด 50 ล้าน และกลุ่มจังหวัด 50 ล้าน ซึ่งเรานําเสนอเรื่องการถ่ายทําภาพยนตร์ เพราะว่ามรดกโลกควรจะถูกนําเสนอ เราก็เตรียมว่าทําอย่างไรจะเป็นโลเคชั่นที่จะถ่ายหนังได้อันนี้อยู่ในโครงการ อย่างเช่น เขาใหญ่ ทําอย่างไรจะเป็น บลูโซน หมายถึงว่าจะทําให้คนมาเที่ยวแบบยั่งยื่น ส่วนนี้ก็ใช้งบ 6 ล้าน อันต่อไป คือ เรื่องเกษตร แบ่งเป็นสองลักษณะ ลักษณะที่หนึ่งคือ มันสําปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าที่เรียกว่า เป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ปรากฏว่ามันมีโรคใบด่าง เราก็จะเปลี่ยนผักมันให้เกษตรกร เพื่อที่จะได้ให้มีผลผลิตที่ดี หรือ เรื่องไหม ก็จะทําทั้งกลุ่มจังหวัดทั้งหมด เพื่อที่จะให้ทั้งต้นน้ํา กลางน้ํา ปลายน้ํา ได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน 2.โครงการที่ทำไม่เสร็จภายในหนึ่งปี ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใน 3 ดินแดนของยูเนสโก้ อันนี้ต้องใช้เวลาเกินหนึ่งปี ก็เสนอโครงการเข้าไป รวมทั้งโครงการศูนย์การแพทย์ ของโรงพยาบาลมหาราช และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะเสนอในครั้งนี้
ผวจ.นครราชสีมา กล่าวโดยสรุป คือ ส่วนที่หนึ่งจะทําให้เสร็จภายในหนึ่งปี ในกรอบวงเงินที่ได้รับแน่นอน จังหวัดละ 50 ล้าน กลุ่มจังหวัด 50 ล้าน ส่วนที่เกินหนึ่งปี ก็จะเป็นตามความจําเป็น ซึ่งครม.จะพิจารณาทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นในการประชุม ครม. สัญจร ต้องเรียนพี่น้องประชาชนว่า เป็นโชคดีของชาวโคราชที่คณะรัฐมนตรี ได้มาประชุม และเป็นความโชคดีที่ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎของเราได้เป็นที่ประชุมด้วย และนําเสนอโครงการในนามของพี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมา
ด้าน รศ.ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่าในการจัดประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ เป็นหอประชุมขนาดใหญ่ ชื่อว่า หอประชุม ราชภัฏรังสฤษฏ์ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หอประชุมนี้เราสร้างขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์หลักใช้ในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 11 แห่ง ของภาคอีสาน และปีนี้ก็จะมีการจัดพิธี พระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคม มีความจุประมาณ 4,000 คน ปกติใช้ในการจัดประชุมทางวิชาการ ใช้ในการให้บริการให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจาก ความพร้อมเรื่องหอประชุมขนาดใหญ่ ทางมหาวิทยาลัยยังได้เตรียมห้องรับรอง ให้กับผู้ติดตามหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ จากกระทรวงหรือว่าภาคเอกชนต่างๆ ระบบการจราจร เตรียมระบบไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด ได้รับความกรุณาจากทางจังหวัด และส่วนราชการที่อยู่ในจังหวัดทั้งหมด เรารวมพลังกัน เพื่อให้การประชุมครม.สัญจรในครั้งนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และบรรลุวัตถุประสงค์ คือ มาประชุมที่โคราช คนโคราชได้ประโยชน์อะไร ตรงนี้ค่อนข้างจะชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น ต้องกราบขอบพระคุณทาง ครม.ทางท่านนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ที่ให้เกียรติกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการเป็นสถานที่จัดประชุม เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ทั้ง 4 จังหวัดและทั้งประเทศไทย
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ กล่าวว่าการประชุม ครม.สัญจร ที่โคราชครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ไปดูโครงการต่างๆ ของโคราช กับความจําเป็นในการใช้งบประมาณในการพัฒนาของโคราช และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ ได้ดูได้เห็นและเร่งรัดในงบประมาณโครงการต่างๆ ให้กับพี่น้องชาวโคราชในการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา
นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่าชาวเทศบาลนครนครราชสีมา รู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากจะขอกราบขอบพระคุณคณะรัฐมนตรีที่ท่านได้อนุมัติงบประมาณให้กับเทศบาลนครนครราชสีมา 1,962 ล้านบาท เพื่อมาแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน น้ำอุปโภค และบริโภค น้ําประปา ซึ่งเทศบาลนครนครราชสีมา ถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นศูนย์กลางด้านการค้า ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการด้านสาธารณสุข ศูนย์กลางการศึกษา อันนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับโครงการเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับน้ําประปา และในอนาคตที่เราอยากจะขอรับการสนับสนุนถึงคณะรัฐบาล คือ โครงการบําบัดน้ําเสีย ส่วนที่ขาด คือ บริเวณสองฝั่งลําตะคอง อันนี้เพื่อป้องกันน้ําเน่าน้ําเสียไหลลงลําตะคอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่จะพัฒนาปรับปรุงรอบคู่เมืองทั้ง 4 ทิศ ซึ่งระหว่างเริ่มพัฒนาโครงการที่คูบูรพามงคล คูที่12 กรมศิลป์ ขุดพิสูจน์ไปเจอโครงกระดูกมนุษย์โบราณ 3 โครง และโครงกระดูกต่างหูทองคำ แหวนทองคำ ทางกรมศิลปากรอยากจะศึกษาค้นต่อไป และในอนาคตเราอยากจะมีพิพิธภัณฑ์เมืองขนาดใหญ่ และอยากขอให้รัฐบาลหาพื้นที่ที่จะขยับขยายเรือนจำกลางนครราชสีมา ที่แอดอัดด้วย