xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลชม “ลิซ่า” แบบอย่างที่ดีของเยาวชน ใช้เยาวราชใน MV สำนึกรักบ้านเกิด ส่งเสริม Soft Power

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รัดเกล้า” เผย รัฐบาลชื่นชม “ลิซ่า” ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนไทย ใช้เยาวราชในผลงานมิวสิกวิดีโอล่าสุด แสดงออกถึงสำนึกรักบ้านเกิด ชูศักยภาพ ส่งเสริม Soft Power ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย

วันนี้ (28 มิ.ย.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลงานมิวสิกวิดีโอ (MV) เดี่ยว ชิ้นล่าสุด เพลง “ROCKSTAR” ของ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล โดยนอกจากเป็นการประเดิมเพลงเดี่ยวเพลงแรกจากค่าย LLOUD ซึ่งเป็นค่ายเพลงของ ลิซ่า เองนั้น เป็นการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ โดยใช้ทีมงาน นักเต้น นักแสดงประกอบ และสถานที่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านเยาวราช และโรงหนังออสการ์เก่า ซอยเพชรบุรี 39 ซึ่งสิ่งที่ลิซ่าได้ทำนั้น เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดึงดูดผู้ที่ติดตามของลิซ่าที่มีอยู่ทั่วโลกให้หันมาสนใจบรรยากาศการเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น ถือเป็นโอกาสเพิ่มกระแสความนิยมในการท่องเที่ยวไทย ให้แฟนคลับ คนรักลิซ่าตามรอย MV มาที่ย่านเยาวราชที่ตอนนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ ที่เกิดขึ้นเยาวราชในประเทศไทย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขอบคุณและชื่นชมลิซ่าที่มีความเป็นเยาวชนไทยตัวอย่าง มีสำนึกรักบ้านเกิด ไม่เคยลืมที่จะใช้ทุกโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่นครั้งนี้ที่เลือกใช้โลเกชันและผู้เกี่ยวข้องชาวไทย เป็นโอกาสแสดงศักยภาพของไทย และเป็นการนำเสนอ Soft Power ของไทย สอดคล้องทิศทางและนโยบายของรัฐบาล ที่ในวันนี้ (28 มิถุนายน 2567) ได้คิกออฟงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum ที่จัดโดยรัฐบาล รวมทั้ง ลิซ่า ยังมีความใส่ใจ ละเอียดอ่อนให้การคัดสรรเนื้อหา ใน MV นั้น หากสังเกตให้ดี มีกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ในมิวสิกวิดีโอ เช่น หมอบรูซ-คชิสรา ศรีดาโคตร รองอันดับ 1 มิสทิฟฟานีไทยแลนด์ปีล่าสุด อีกด้วย นับว่า เป็นการให้พื้นที่กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ตอกย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมมุ่งหวังเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน โดยล่าสุด รัฐบาลเองก็ได้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจนเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ ขอเสริมข้อมูลว่า สำหรับการขอสถานที่ถ่ายทำในกรุงเทพฯ ผู้กำกับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถขอใช้สถานที่ได้ โดยประสานผ่านศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (BFMCC) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น