“ปลัดมหาดไทย” เวียน ผวจ.ทั่วประเทศ ฐานะ ปธ.บริหารจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยระดับจังหวัด-อปท. 7.8 พันแห่ง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฉบับใหม่ กรณีการรวมกลุ่ม Clusters “บริหารจัดการมูลฝอย” กว่า 247 กลุ่ม หลังยกเลิก ฉบับปี 2560/65 เปิดทาง อปท.เลือกกลุ่ม Clusters มูลฝอยใหม่ พบเงื่อนไขเพียบ! กรณีขอข้ามเขตจังหวัด
วันนี้ (26 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามหนังสือเวียนด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ
ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,850 แห่ง ให้ถือปฏิบัติ
เป็นการแจ้ง ยกเลิก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ หลังจากได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2567 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 โดยได้รับรายงานการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 247 กลุ่ม
แบ่งเป็น การรวมกลุ่มการจัดการมูลฝอยขนาดใหญ่ (L) จำนวน 21 กลุ่ม การรวมกลุ่มการจัดการมูลฝอยขนาดกลาง (M) จำนวน 38 กลุ่ม และการรวมกลุ่มการจัดการ มูลฝอยขนาดเล็ก (S) จำนวน 188 กลุ่ม
พิจารณาแล้วเห็นว่า การรวมกลุ่ม Clusters ของ อปท. เป็นนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทย ตามที่คณะรัฐมนตรี 16 มิ.ย. 2558
และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด คณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความแน่นอน ของการรวมกลุ่ม Clusters ของ อปท. อาศัยอำนาจ ตามข้อ 4 ประกอบข้อ 17 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2567
จึงให้ อปท. ทุกแห่งถือปฏิบัติการรวมกลุ่ม Clusters ตามบัญชี Clusters จำนวน 247 กลุ่ม ไปดำเนินการในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
ให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด ส่งเสริม แนะนำและกำกับ อปท. ให้ดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยภายใต้การรวมกลุ่ม Clusters อย่างเป็นรูปธรรม
“มีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เลือกใช้วิธีการและพื้นที่กำจัดขยะที่เหมาะสม เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่และดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้อง”
กรณี อปท. พิจารณาเห็นว่า มีเหตุผลความจำเนินในการเปลี่ยนแปลง การรวมกลุ่ม Clusters ของ อปท.ตามบัญชี Clusters จำนวน 247 กลุ่ม ภายในเขตจังหวัด
“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมูลฝอยให้เกิดความเหมาะสมกับ สถานการณ์ปัจจุบัน หรือ เป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการมูลฝอย”
ให้ อปท.เสนอเหตุผลความจำเป็นและวิธีการที่จะขอเปลี่ยนแปลงการรวมกลุ่ม Clusters ต่อคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
และแจ้ง อปท.ในพื้นที่ทราบ โดยให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบด้วย
กรณี อปท. พิจารณาเห็นว่า มีเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการ “ข้ามเขตจังหวัด” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมูลฝอย ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการมูลฝอย
ให้ อปท.เสนอเหตุผลความจำเป็น และวิธีการที่จะขอดำเนินการข้ามเขตจังหวัด ต่อคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด นั้นเพื่อพิจารณา ก่อนส่งต่อให้จังหวัดที่เป็นพื้นที่รับ อปท.เข้าร่วมกลุ่ม
ให้จังหวัดที่เป็นพื้นที่รับ อปท.เข้าร่วมกลุ่มเสนอเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พิจารณา
แล้วจึงเสนอความเห็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายเพื่อทำความตกลงก่อนดำเนินการ
ท้ายสุดในการพิจารณาตามกรณี ทั้ง 2 ข้อเบื้องต้นให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด พิจารณาการรวมกลุ่ม Clusters เป็นไปด้วยความรอบคอบ
โดยจะต้องพิจารณาให้การเปลี่ยนแปลงการรวมกลุ่มพื้นที่ หรือขอดำเนินการข้ามเขตจังหวัด ต้องมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือที่ “สภาท้องถิ่น” แต่ละแห่งพิจารณาให้ความเห็นชอบ
“ไม่ให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่ซํ้าซ้อนกัน ตลอดจนมีความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการตาม หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรี 16 มิ.ย. 2558”