เลขาฯ กกต.ขอโทษ เลือก ส.ว.รอบแรกล่าช้า คาด รอบไขว้เลือกจบใน 2 ทุ่ม แง้มผู้สมัคร ส.ว.จองรร.กว่า 20 แห่ง พบกัน มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ หวั่นพูดมากไหวตัวทัน หากได้ส่งขึ้นศาลทีหลัง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นสำรองต้องถูกลบชื่อ
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับประเทศ แถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการเลือก ส.ว.รอบแรก ว่า นับตั้งแต่เปิดให้ผู้สมัคร ส.ว.รายงานตัว และเริ่มกระบวนการเลือก ส.ว.รอบแรก เลือกผู้สมัครในกลุ่มตนเอง ใน 20 กลุ่ม ซึ่งล่าช้าไปจากที่คาดการณ์เอาไว้มาก เลยรับประทานเวลาอาหารกลางวันมาพอสมควร แต่ทางสำนักงาน กกต.ไม่ได้จัดเตรียมให้ในรอบเช้า
สำหรับบรรยากาศการเลือกโดยทั่วไปในสถานที่เลือก ขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกที่ให้ความร่วมมือด้วยดี ทุกคนอยู่ประจำกลุ่ม มีผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มต่างๆ รวมถึงทูตานุทูต เพื่อตรวจสอบดูแล ว่า เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ น่าจะมีผู้สมัครด้วยกันเอง ก็ถือว่าเป็นผู้สังเกต เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ตลอดจนมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในทุกกลุ่ม เพื่อบันทึกเหตุการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยพบมีผู้สมัครทักท้วงเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นการทักท้วงหลังจากทราบคะแนนแล้ว ในขณะที่การทักท้วงจะอนุญาตให้ดำเนินการระหว่างที่มีการขาน ขีด คะแนน อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ จะให้ใบทักท้วงหากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอาจจะไปใช้สิทธิตามช่องทางอื่นหลังจากวันนี้ได้ โดยมีกล้องที่บันทึกไว้ทั้งภาพและเสียงเพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ของผู้สมัครเองและของ กกต.เอง
“ในการเลือก ส.ว. รอบแรกเสร็จประมาณ 14:00 น. แต่ใช้เวลาในการรวบรวมเสร็จเมื่อสักครู่ (16.00 น.) ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน เนื่องจากสถานที่เลือกติดกัน จึงต้องขานคะแนนให้ช้า และให้เกิดความชัดเจน และด้วยปริมาณการอ่านเยอะ เพราะผู้มีสิทธิเลือก เลือกได้ไม่เกิน 10 คน 1 คน 1 ใบ จึงอ่าน 10 ครั้ง ขีด 10 ครั้ง ใช้เวลาพอสมควร ทำให้เลยเวลา จากที่ประมาณการไว้พอสมควร” นายแสวง กล่าวและว่า สำหรับการเลือกรอบสอง นั้น ด้วยปริมาณคนลดลง จำนวนสิทธิในการลงคะแนนเสียงน้อยลง ก็คิดว่า อาจจะเสร็จประมาณ 20:00 น. แต่ละกลุ่มลงคะแนนแค่ 40 คน 1 คนมี 5 คะแนน เวลาอ่านคะแนนอ่านคะแนนจะทำทีละกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในส่วนนี้
เมื่อถามว่า การติดวงจรปิด แต่ถ่ายทอดสลับไปมา ไม่มีเสียง ทำให้ขาดการต่อเนื่อง จะปรับอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งบอร์ดลงคะแนนที่ไม่ให้สื่อไปดู ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการรายงานผล จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า การประกาศรายชื่อผู้ผ่านการเลือกนั้น จะประกาศเป็นการทั่วไป ติดในสถานที่นับคะแนน ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิด เราทำไว้เพื่อคุ้มครองผู้สมัคร และเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อมีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทางศาล อาจจะมีการไต่สวน และเรียกกล้องวงจรปิด ซึ่งมีทั้งภาพ และเสียงอยู่แล้ว ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เราทำมาตลอด
เมื่อถามถึงการแต่งกายผู้สมัครวันนี้ บางคนบางกลุ่มแต่งกายเหมือนกัน อาจเป็นการนัดหมายหรือไม่ ที่ กกต.บอกว่า รับไปก่อนแล้วสอยทีหลังนั้น จะอ้างอิงกฎหมายอะไร นายแสวง กล่าวว่า การแต่งกายก็เหมือนวันรับสมัคร ที่คนมาจากหมู่บ้านเดียวกัน บริษัทเดียวกัน ใส่ชุดเหมือนกัน ถือว่ายังไม่ผิดตามกฎหมาย ส่วนจะผิดหรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริง เหมือนกรณีกลุ่มคนจองโรงแรมเพื่อพบกันที่มีประมาณ 20 โรงแรม ทาง กกต. รวบรวมหลักฐาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หากพูดไปก็จะทำให้ไหวตัวได้ แต่ที่เราจะดู คือ คนสั่งจองโรงแรม คนสั่งอาหารต่างๆ มีการพูดคุยกับโรงแรม ซึ่งตามกฎหมาย การจัดเลี้ยงก็ผิด การให้ประโยชน์ทรัพย์สินอื่นใดก็ผิด แต่ต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน หากรวบรวมเสร็จแล้ว จึงจะบอกได้ว่า ใช้กฎหมายข้อใด แต่มาตรา 60 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2561 ใครทำให้การเลือกไม่สุจริตเที่ยงธรรม ก็ส่งศาลฎีกาพิจารณา และเมื่อศาลรับคำคัดค้านไว้ ถ้าได้เป็น ส.ว.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นสำรองก็ลบชื่อออก