วันนี้(26 มิ.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ตัวแทนผู้บริหารโรงโม่หิน (บริษัท ศิลาสากลพัฒนา จำกัด) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมทนาย ได้จะเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบไปด้วย นายอำเภอปากช่อง นายกอบต.หนองน้ำแดง เจ้าหน้าที่ สปก.และเจ้าหน้าที่ ปปท.ว่าใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ กรณีที่นำกำลัง กว่า 50 นาย บุกรุกเข้าไปตัดกุญแจประตูรั้ว ทางเข้าโรงโม่หิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท ที่ถือครองตามโฉนดที่ดิน ที่ระบุชัดเจนว่าที่ดินติดเขา โดยอ้างว่าทำตามเอกสารราชการ แต่เมื่อทางโรงโม่ขอดูเอกสารพบว่าไม่มีหนังสือคำสั่งราชการมาแสดง และไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นทางเข้าของโรงโม่มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เป็นเส้นทางที่บริษัทฯใช้ลำเลียงวัสดุอุปกรณ์ เข้าออกโรงโม่ ที่ผ่านมาไม่เคยมีชาวบ้านร้องเรียนหรือใช้เส้นทางนี้ เพราะเป็นเพียงทางเข้าของโรงโม่ ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่อันตราย หากประชาชน สัญจรเข้าไป เสี่ยงถูกหินล่วงหล่นใส่ได้
วันนี้ที่เดินทางมาร้อง ป.ป.ช.และร้องสื่อ เพราะทุกวันนี้บริษัทอยู่ด้วยความระแวง ต้องให้พนักงานเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง กลัวเกิดความเสียหายหากมีคนบุกรุกเข้าไป เบื้องต้นทางบริษัทได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ เจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงานรัฐ ข้อหาร่วมกันบุกรุกพื้นที่ ที่สภ.ปากช่องไว้แล้ว เชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้น น่าจะถูกกลั่นแกล้ง แต่ไม่ทราบว่าคนที่กลั่นแกล้งต้องการอะไร
ตัวแทนผู้บริหารโรงโม่หิน ระบุเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้บริษัทโรงโม่หิน และหน่วยงานภาครัฐได้มีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ที่ผ่านมาทางบริษัทได้แจ้งสิทธิ์ในการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินติดเขาถูกต้องตามกฏหมาย ในอดีตเอกสารเป็น ส.ค.1 เมื่อปี 2498 ต่อมาเปลี่ยนเป็น น.ส.3 น.ส.3 ก และเป็นโฉนดเมื่อปี 2550 จึงเป็นที่ดินของบริษัทอย่างถูกต้อง เมื่อมีการออกเป็นโฉนด ซึ่งระบุพื้นที่ติดเขา หน่วยงานราชการแจ้งว่าถนนที่ทางบริษัทปิดไว้ ตามสิทธิ์การครอบครอง และเกรงว่าอาจเกิดอันตรายหากเปิดให้มีการสัญจรไปมาเป็นทางสาธารณะตามกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2499 ที่ให้พื้นที่ไหล่เขา กว้าง 40 เมตร เป็นทางสาธารณะ ซึ่งตามความเป็นจริง บริษัทถือครองที่ดินมาก่อนกฏหมายดังกล่าว และใช้งบประมาณของทางบริษัททำเป็นถนนราดยางมะตอย ให้รถขนาดใหญ่เข้า-ออก
นอกจากนั้นทางบริษัทยื่นคำร้องต่อศาลขออำนาจคุ้มครอง และยื่นเอกสารการครอบครองต่อกรมที่ดิน ซึ่งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดการออกโฉนดให้ทางบริษัทขาดพื้นที่ไปส่วนหนึ่ง ซึ่งร้องเรียนขอให้ออกโฉนดเพิ่มแต่ภาครัฐหลายหน่วยงาน กลับเร่งรัดให้ทางบริษัทรื้อถอนรั้วที่ปิดไว้เพื่อเปิดให้ประชาชนสัญจรไป-มา โดยอ้างว่ามีประชาชนมาร้องเรียนขอให้เปิดทางพยายามกดดัน และส่งเอกสารราชการขอความร่วมมือให้เปิดทางตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผ่านทางไลน์ ซึ่งขั้นตอนและข้อพิพาทยังไม่จบ มีประเด็นที่ทางบริษัทสงสัย คือทำไมเจ้าหน้าที่ ปปท.เข้ามาตรวจสอบ กดดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการทั้งๆที่ เป็นข้อพิพาทของภาครัฐกับเอกชน ไม่ใช่ข้อพิพาทเรื่องทุจริตระหว่างภาครัฐด้วยกัน เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนนำระเบิดมาวางไว้ที่ป้อมยาม แต่ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใคร ยืนยันบริษัทไม่เคยมีปัญหากับใคร ประกอบกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับบริษัทและส่งผลกระทบกับพนักงาน ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ส่วนสาเหตุคาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งของคู่กรณีเกี่ยวกับเส้นทางเข้าไปในพื้นที่