”ชัชวาล ไทยสร้างไทย” ฉุน “ทัพฟ้า” ท้าทายอำนาจตรวจสอบ เปิดซองซื้อ “วิทยุสื่อสาร“ แพงกว่าตลาดเกินเท่าตัว ทั้งที่เพิ่งอภิปรายในสภาฯ ดักคอถ้าซื้อชาติเสียหายทันที 23.55 ล้าน บ. จี้ ”ผบ.ทอ.” ตอบ หวั่นกลายเป็นเงินทอนเข้ากระเป๋าใคร ปูดเหล่าทัพชอบซื้อของนอก อ้างไม่เสีย VAT แต่จริงๆหวังได้ไป ตปท. หอบอะไรติดไม้ติดมือกลับมา
วันนี้ (24 มิ.ย.67) นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดหาวิทยุสื่อสารของกองทัพอากาศ (ทอ.) ว่ามีการตั้งราคาเกินกลางราคาในท้องตลาดมากกว่า 1 เท่าตัว ในระหว่างการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ 2568 (พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 68) วาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดมีนายทหารอากาศที่หวังดีกับชาติบ้านเมืองแจ้งข่าวว่า โครงการที่ตนตั้งข้อสังเกตนั้นได้มีการเปิดซองประกวดราคาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ปรากฎว่า ราคาสูงกว่า 1 เท่าตัวตามที่ตนอภิปรายไว้จริงๆ ถือเป็นการท้าทายอำนาจการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเห็นได้ชัด
“จากข้อมูลที่ผมได้รับ และได้ตรวจสอบแล้ว เท่ากับว่า ทอ.จัดซื้อตามราคาที่เปิดซอง จะทำให้ประเทศชาติเสียหายทันทีอย่างน้อย 23.55 ล้านบาท ซึ่งต้องถามว่า ใครได้รับประโยชน์จากส่วนต่างตรงนี้หรือไม่” นายชัชวาล ระบุ
นายชัชวาล อธิบายต่อว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการจัดหาวิทยุสื่อสารรวม 40 เครื่องของ กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ ซึ่งรุ่นที่ได้เปิดซองราคา เป็นวิทยุสื่อสารยี่ห้อ Jotron รุ่น TR 7750 ในราคา 956,250 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณ 38.25 ล้านบาท แต่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลทางเวบไซต์ต่างประเทศพบว่า ราคาขายปลีกของวิทยุรุ่นเดียวกันมีราคาเพียง 835,000 รูปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 367,500 บาทเท่านั้น หากซื้อในราคาปลีก 40 เครื่องก็จะใช้งบประมาณเพียง 14.7 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่าหากมีการจัดซื้อตามราคาที่ ทอ.เปิดซองจริง ก็จะมีส่วนต่างมากถึง 23.55 ล้านบาท และหากซื้อในราคาส่งก็เชื่อว่าจะได้ราคาถูกกว่านี้พอสมควร
“น่าเสียดายที่ในการอภิปรายงบฯปี 68 ท่าน รมว.กลาโหม ไม่ตอบคำถามผมในเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่า เรื่องแบบนี้รัฐมนตรีไม่ทราบเรื่อง เป็นเรื่องที่สอดไส้กันในกระบวนการจัดซื้อจัดหาของ ทอ. จึงขอเรียกร้องให้ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาตอบคำถามว่าเหตุใดถึงต้องซื้อของแพงกว่าราคาท้องตลาดมากขนาดนี้“ นายชัชวาล กล่าว
นายชัชวาล ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ส่วนต่างที่เกิดขึ้นในโครงการจัดหาวิทยุสื่อสารของ ทอ.นี้ สะท้อนว่าเหตุใดเหล่าทัพจึงยังคงมุ่งที่จะซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะส่งเสริมและสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยตนยังทราบมาด้วยว่า เวลาที่จะมีการตกลงซื้อยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ก็จะเป็นข้ออ้างให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหา ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปตรวจสอบกระบวนการผลิต และทดสอบการใช้งาน หรือลงนามในสัญญา นอกจากนี้ยังอาจเป็นโอกาสให้ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาด้วยหรือไม่ และยังมีในเรื่องของส่วนต่าง ที่มักมีการอ้างว่า หากซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ถ้าซื้อจากต่างประเทศจะไม่มีเรื่องของ VAT
“เรื่องเสีย VAT หรือไม่เสียนั้นเป็นแค่ข้ออ้าง เพราะเทียบมูลค่า VAT ของการซื้อของในประเทศแล้วน้อยกว่าส่วนต่างของการซื้อของประเทศอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญส่วนต่างตรงนี้ก็อาจถูกเล่นแร่แปรธาตุเป็นเงินทอนเข้ากระเป๋าใครหรือไม่ด้วย“ นายชัชวาล กล่าว.