เมืองไทย 360 องศา
ผลงานของรัฐบาล ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการบริหาร หากพิจารณาจากความรู้สึกของชาวบ้านส่วนใหญ่เวลานี้ถือว่ายังไม่น่าพอใจ และยังมองไม่เห็นแนวกระเตื้องขึ้นมาในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก หาก“ความรู้สึก” ของชาวบ้านเป็นแบบนี้ เพราะเมื่อความรู้สึก “ไม่ค่อยแฮปปี้” ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นแบบนี้แล้วโอกาสกลับมาถือว่าเป็นเรื่องยาก
ลักษณะอารมณ์ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในเวลานี้มีลักษณะคล้ายกับยุคของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอดีต ที่ในช่วงปีท้ายๆ ที่จะขยับตัวไปทางไหนก็ “โดน” ส่วนหนึ่งอาจเป็นความเบื่อหน่ายของคนไทย ที่มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ประกอบกันมี “วาทกรรม” กรอกหูอยู่ทุกวัน รวมไปถึงการตอกย้ำในเรื่อง “เผด็จการสืบทอดอำนาจ” ทำให้เกิดความเร่าร้อนในใจของชาวบ้าน โดยเฉพาะบรรดาพวกเด็กๆ ที่เพิ่งสัมผัสกับบรรยากาศการเมืองไม่นาน
แต่สำหรับ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่เริ่มจากการ “ข้ามขั้ว” และถูกเร้าด้วยคำว่า “ตระบัดสัตย์” ก็สร้างความไม่พอใจจากสังคมได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องเดินหน้า โดยในช่วงแรกอาจจะโบ้ยเป็นความล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ยังมีน้ำหนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเกือบครบปีแล้ว ข้างดังกล่าวเริ่มไม่ได้ผล ตรงกันข้ามหากยังใช้วิธีการแบบเก่า มันก็ยิ่งเข้าเนื้อ
สำหรับปัญหาที่เริ่มกดทับเข้าใส่รัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ปัญหาเรื่อง“ค่าครองชีพ” ปัญหา“หนี้สิน” ของชาวบ้าน ที่เป็นต่อเนื่องเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะหากรายได้เท่าเดิม หรือลดลง ขณะที่ค่าใช้ในชีวิตประจำวันกลับเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งเรื่อง“ปากท้อง” ของชาวบ้าน นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่ชาวบ้านทุกคนสัมผัสได้ จนเวลานี้มีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ เรื่อง “แพงทั้งแผ่นดิน” แม้ว่าหากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรมแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ หรือวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดขึ้นทั่วโลก ต่อเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเรื่องราคาพลังงานเพิ่มสูงมาก ทุกอย่างล้วนสร้างผลกระทบต่อเนื่อง มาถึงประเทศไทย
แต่สิ่งดังกล่าวคงนำเป็นข้ออ้างไม่ได้ และชาวบ้านก็คงไม่ฟัง เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการสัมผัสก็คือ ชีวิตความเป็นอยู่ต้องไม่ลำบาก ไม่มีหนี้สิน หรือลดลง มีรายได้มากกว่าเดิม อะไรประมาณนี้ แต่เมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือที่รัฐบาลได้รับปากเอาไว้ ความศรัทธา ความเชื่อมั่นของรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีก็จะเริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ เหมือนกับเวลานี้ที่รัฐบาลกำลังประสบอยู่
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยพรรคแกนนำต้องเจอกับปัญหาความเชื่อมั่นก็คือ นโยบายหลัก เช่น “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ถือเป็นนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เวลานี้กลับไม่อาจสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และเรื่องงบประมาณ แม้ว่าล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะยืนยันกับสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เมื่อวันก่อนว่า จะเริ่มแจกเงินงวดแรกได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่คำถามและเสียงวิจารณ์ก็ยังดังอื้ออึงในเรื่องของการก่อหนี้มหาศาล ได้ไม่คุ้มเสีย จากการ “กู้มาแจก” แบบนี้
ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน ได้พยายามอธิบายโดยย้ำให้เห็นว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาว่าเป็นของทุกคน ทำงานเต็มที่ ทั้งการเดินทางไปต่างประเทศแบบถี่ยิบก็เพื่อดึงดูดการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลงไปในพื้นที่ต่างๆ ก็เพื่อสัมผัสกับทุกข์สุขของชาวบ้านอย่างแท้จริง
ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ครั้งแรก เขาอธิบายถึงการลงพื้นที่ถือเป็นการมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตนเองเชื่อว่าการลงหน้างานมีส่วนช่วยเหลือ ทำให้เขามีความมั่นใจขึ้น แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดไม่ได้ไปคนเดียว ทั้งคณะรัฐบาลไปหมด ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปหมด
มีการกำหนด KPI ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และเป็นการสร้างความคาดหวังให้พี่น้องประชาชนในครั้งต่อไปที่เราจะไป ครม.สัญจร ว่าถ้าเกิดคณะรัฐมนตรีมาจังหวัดข้างเคียงจะได้อานิสงส์อะไรบ้าง ทั้งนี้ การลงพื้นที่แต่ครั้งต้องแบ่งเป้าหมายเป็น 2 - 3 อย่าง หนึ่ง ในแง่ของมวลชน ต้องมีการพบปะมวลชน เพราะต้องการจะได้เห็นจริงๆว่า ในสายตาของเขามีความทุกข์ยากมากน้อยขนาดไหน เรื่องบ้างเรื่องที่เขาร้องเรียนมา บางทีเขาร้องเรียนมาแล้วตนไม่ได้ยิน เพราะถูกกันออกไป ตนก็อยากไปได้ยินเองเวลาไปลงพื้นที่ว่าเขาพูดเรื่องอะไรกันบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะรับฟังได้โดยตรง โดยไม่มีการกีดกันเลย การได้พบข้าราชการก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าไม่ฉะนั้นโอกาสที่จะได้พบกับข้าราชการฝ่ายปกครองก็น้อย ได้พบกับนายอำเภอ ได้พบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ ตนเองเชื่อว่าเป็นอะไรที่ให้ความรู้กับทั้งกับตนและรัฐมนตรีหลายๆท่านในหลายๆเรื่อง
ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศจริงๆ แล้วตนไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟท์บังคับ เป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ทั้งคำพูดและคำยืนยันของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังดำเนินการอยู่นั้นได้ผลดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่อีกด้านหนึ่งในความรู้สึกของชาวบ้านเวลานี้กลับเห็นเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นเพิ่มความเดือดร้อน แบบ “แพงทั้งแผ่นดิน” ทุกอย่างแพงไปหมด ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ยังสะท้อนผ่านทางผลสำรวจที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ชาวบ้านไม่พอใจผลงานของรัฐบาล รวมไปถึง ผลงานของ นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาล กลายเป็นว่า “ยังไม่เข้าตา” สร้างความผิดหวัง ทำให้เชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆนี้พรรคเพื่อไทยจะพ่ายแพ้มากกว่าเดิมอีก อีกทั้งยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่เป็นบวกเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้เลย !!