วันนี้(23 มิ.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า [ บทสรุป #งบ68 : สิ่งที่ประชาชนต้องการอาจไม่ใช่พายุหมุน แต่คือ “ลมใต้ปีก”]
ปี 2568 ยังคงเป็นปีที่ทั้งยากและเสี่ยงสำหรับประชาชน มีความลำบากทั้งแง่เศรษฐกิจและปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นงบประมาณที่รอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยง และมีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ในช่วงหยุดถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมได้ศึกษาวิธีการทำงบประมาณขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงบประมาณของไทย ซึ่งน่ายินดีที่ตอนนี้ OECD รับไทยเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก
สิ่งที่ OECD นำเสนอ “งบประมาณ” คือการเรียงลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่จ่ายภาษีกับรัฐที่ใช้ภาษี ทั้งนี้จากการศึกษาการจัดทำงบประมาณของหลายประเทศ ผมประทับใจของนิวซีแลนด์เมื่อปี 2019 ที่ใช้คำว่า the Wellbeing Budget หรือการจัดงบที่ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี พูดถึงความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการลดความเหลื่อมล้ำ การทำงบประมาณที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้น แต่คำนึงถึงความเสี่ยงระยะยาว ไม่ได้คิดแค่การโปรยเงินจากบนลงล่าง แต่จากล่างขึ้นบน
บางครั้งสิ่งที่ประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงต้องการ อาจไม่ใช่พายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องการลมใต้ปีกให้คนตัวเล็กๆ ผ่านการทำงบประมาณและยุทธศาสตร์อย่างละเอียด มีโครงการที่ใส่ใจ
ผมอยากจะสรุปการอภิปรายงบประมาณปี 68 ออกเป็น 3 วาระด้วยกัน คือ
ประมวล : ภาพรวมของ “รายรับ+การกู้ = รายจ่าย” ของงบประมาณ ด้วยตอนนี้รายได้ของรัฐไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจึงต้องกู้เพิ่ม เพื่อให้พอต่อการจับจ่ายใช้สอย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้ของรัฐมีความผันผวนและสัดส่วนการเก็บรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับ GDP จึงต้องถามรัฐบาลว่ามีแผนงานอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ารายได้ในอนาคตจะสามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องกู้มากขึ้น และ อยากให้รัฐบาลอธิบายแผนรายได้ของประเทศว่าจะทำอย่างไรกับการปฏิรูปภาษี การขยายฐานภาษีที่ทำให้คนตัวเล็กไม่ลำบากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นภาษีแนวดิ่งอย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีแนวราบ รวมถึงการสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่นภาษีจากสุราก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลสามารถผลักดันได้เลย หรือภาษีมรดก ภาษีที่ดิน
การที่รายได้รัฐไม่พอแล้วต้องกู้เพิ่ม เสมือนนำเงินจากอนาคตมาใช้ แต่เราจะมั่นใจในอนาคตได้แค่ไหน ดังนั้นควรมีความรอบคอบก่อนกู้ เช่นที่จะกู้กว่า 8 แสนล้านบาท ประชาชนต้องการทราบว่าตกลงต้องคืนเมื่อไร ใครต้องคืน ดอกเบี้ยเท่าไร
ขยาย : เพื่อสะท้อนความสมดุลของการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้งบประมาณกับกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญแน่นอน แต่ต้องแลกด้วยอะไรบ้าง รัฐบาลต้องหาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการลดความเหลื่อมล้ำ การหาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นกับความเสี่ยงระยะยาว และการหาสมดุลระหว่างการกระตุ้นกับประชาชนที่ถูกมองข้าม
การแจกเงินที่จะทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ เพราะเมื่อดูปัญหาของ GDP ตอนนี้ที่รัฐบาลบอกว่าต้องกระตุ้น ไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 1.5% การบริโภค หรือตัว C โต 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาอยู่ที่การลงทุน (I) การใช้งบประมาณแผ่นดิน (G) และการต่อสู้กับการขาดดุลทางการค้า
ดังนั้นรัฐควรใช้งบประมาณแผ่นดินให้ลงทุนถูกจุด ไม่ว่าจะเป็น ปลดล็อกที่ดิน แหล่งน้ำ และเครื่องจักรทางการเกษตร การลงทุนในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของการท่องเที่ยว และเพื่อที่จะไม่ทำให้คนที่ถูกมองข้าม เพราะด้วยการตัดงบประมาณของรัฐ ทำให้
เด็กเล็ก 0-6 ปี ที่หลุดออกจากระบบ 1.5 ล้านคน
สวัสดิการผู้พิการที่งบหายไปอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ทำให้ผู้พิการราวแสนคนไม่ได้รับความช่วยเหลือ
งบดูแลไฟป่าของท้องถิ่น ถูกตัดไปพันกว่าล้านบาท ทำให้ป่า 7.5 ล้านไร่ ไม่ได้รับการดูแล
เสนอแนะ ขอให้ฟัง OECD ที่เสนอมาทั้งหมด 10 ข้อ เป็น Best practice ของการจัดทำงบประมาณ ผมขอเน้นเพียง 3 ข้อคือ ข้อ 5 การมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสาธารณะ ต้องมี Gender Budgeting และ Green Budgeting ซึ่งจะทำให้คนชายขอบไม่ถูกมองข้าม ข้อ 9 คือความเสี่ยงทางการคลังและความยั่งยืนระยะยาว และข้อ 10 การประกันคุณภาพและการตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องความโปร่งใส
ทั้งนี้ ขอเสนอ 5 สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน
(1) ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนรายได้กับแผนหนี้ของประเทศ
(2) แผนการปฏิรูปภาษีอย่างเป็นธรรม
(3) แผนการช่วยเหลือประชาชนที่งบประมาณไม่ครอบคลุมในครั้งนี้ เช่นประชาชนที่เสียภาษี VAT อาจอยากถามว่าเขาอยู่ตรงไหนของแผนงบประมาณนี้
(4) การเปิดเผยกระบวนการพิจารณางบต่อสาธารณะ และ
(5) การปรับกระบวนการงบประมาณตามมาตรฐาน OECD