xs
xsm
sm
md
lg

"วิโรจน์" สับเละงบกองทัพ เน้นกินหรูอยู่สบายมากกว่าความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิโรจน์” ชี้กองทัพเบิกจ่ายงบต่ำสะท้อนไม่ตั้งใจส่งเสริมความมั่นคงประเทศ ลดงบบุคคลากร แค่ 34 ล้านเพราะกลัวฝ่ายค้านด่า แถมลดกำลังนายพลต้วมเตี้ยม จับตาแปลงงบซ่อมบำรุงไปซื้ออาวุธ อัด“สุทิน”เป็นเพียงหุ่นเชิดสานนโยบายต่อจาก ‘ประยุทธ์’ หนุนจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ของกองทัพอากาศ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท

วันนี้( 20มิ.ย.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ว่า ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม สะท้อนถึงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ จะพบว่ากระทรวงกลาโหมมีอัตราการเบิกรายจ่ายลงทุนต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2567 อัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 17.67% กองทัพบก 4.89% กองทัพเรือ 23.24% และกองทัพอากาศ 11.73% งบประมาณที่เหลืออยู่อีกแค่3 เดือน สะท้อนถึงอาการของ โรคไม่ตั้งใจที่จะส่งเสริมความมั่นคงของประเทศให้สอดรับกับบริบทของภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป อัตราการเบิกจ่ายของรายจ่ายลบทุนของกองทัพนั้นมีปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า นายทหารระดับสูง และรมว.กลาโหม ทราบดีว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมขาดงบประมาณในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพคือ งบบุคลากรที่มีสัดส่วนสูงมาก จนกองทัพไม่มีเงินเหลือที่จะลงทุนด้านความมั่นคงไม่มีเงินที่จะซื้อเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ทันสมัย ทั้งที่เห็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ผุดตรงหน้า หากดูงบบุคลากรในภาพรวมแม้ว่าจะลดลงแต่ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการปรับปรุงโครงสร้างภายใน งบบุคลากรปีนี้ลดเพียง 2.5พันล้านบาท ลดลงแค่ 2.31% ซึ่งภาพรวมของกระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 2.6พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.31% ในภาพรวมเพิ่มขึ้นทุกเหล่าทัพ

“เมื่อเห็นการลดลงของงบบุคลากรแล้ว อาจจะนึกดีใจ คิดว่ากองทัพมีการปรับตัว แต่ขอยืนยันว่าเป็นการลดแบบธรรมชาติ ไม่ได้ลดจากการปรับปรุงโครงสร้างภายใน ท้ายสุดแล้วลดงบประมาณไปได้เพียง 34 ล้านบาท เป็นการลดแบบพอเป็นพิธี เพราะกลัวฝ่ายค้านด่า เนื่องจากรมว.กลาโหมเคยยอมรับกลางสภามาแล้ว แบบไม่กระมิดกระเมี้ยนว่ากลัวก้าวไกล ”

นายวิโรจน์ กล่าวว่า งบบุคลากรลดลงเพราะกำลังที่รับบรรจุช่วงสงครามเย็นที่ทยอยครบกำหนดเกษียณในช่วงเวลานี้พอดี ไม่ได้เกิดจากความพยายามของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีแทนที่จะรีบเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ควบรวมหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ทำ และเคยได้รับคำชี้แจงในคณะกรรมาธิการการทหารว่า กำลังพิจารณาอยู่ แต่จะเป็นทางการในช่วงปี 2570 ซึ่งประจวบเหมาะกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกองทัพก็อาจจะไปต่อรองขอขยายความอ่อนแอออกไปอีก

“จะชวนนายทหารระดับสูงมายืนพนมมือแล้วบริกรรมคาถาหรือครับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัตว์ปีกทั้งหลายที่ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิด จบลงด้วย แล้วทุกอย่างจะดีเอง สาธุ อย่างนั้นหรือครับ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการ Early Retire ก็ไม่ปรากฏในงบ 2568 และการลดจำนวนนายพลลงครึ่งหนึ่ง ก็เป็นไปอย่างต้วมเตี้ยม กว่าจะครบตามเป้าหมายคือเหลือ 284 นาย ก็ต้องรอถึงปี 2571 และถ้าไม่คิดควบรวมหน่วยงานที่ซับซ้อนในกระทรวงกลาโหม นายพลอีก 965 นาย ก็จะดำรงอยู่ต่อไป อีกทั้งสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เชื่อว่านายทหารระดับสูงและรัฐมนตรีก็รู้ดี ว่าการปะทะที่เกิดขึ้นมีการใช้ระเบิดนำวิถี โดรนพลีชีพ กิจกรรมผิดกฎหมายมีแนวโน้มสูงขึ้นในพื้นที่ชายแดน แต่กองทัพบกให้ความสำคัญกับเรื่องโดรนต่ำมาก ปี 2568 มีการจัดซื้อเพียง 10 ตัว สะท้อนถึงการประเมินสถานการณ์ที่ล้าหลังมาก และในยุทธศาสตร์ก็ไม่มีแผนและแนวทางในใช้โดรนรับมือและยับยั้งโดรนของฝ่ายตรงข้าม มีเพียงการใช้ลาดตระเวนเท่านั้น

ปัจจุบันมีขบวนการค้ามนุษย์และยาเสพติดข้ามมายังชายแดนฝั่งไทย แต่ในงบประมาณ 2568 ไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีมีประโยชน์ในการตรวจจับผู้กระทำผิดเลย จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การทำผิดกฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่จนปัจจุบันนี้

ขณะที่งบประมาณซ่อมบำรุงของกองทัพบก พบว่างบจัดหาสิ่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนซ่อมคงคลัง หรือเงินซื้ออะไหล่ กลับลดลง 580 ล้านบาทจากงบปี 2567 จึงเชื่อได้ว่า ยานเกราะจำนวนมากที่นอนรออะไหล่นานแรมปี ก็ยังต้องรอต่อไป โดยเฉพาะยานเกราะล้อยางที่มีความสำคัญ กลับได้รับงบเพียง 40 ล้านบาท จะทำให้กองทัพสามารถรักษาสภาพยานเกราะให้มีความพร้อมใช้ 2 ใน 3 ได้อย่างไร

“เมื่อนำงบซ่อมยานเกราะล้อยาง งบการจ้างซ่อมของกองทัพบก มารวมกัน 195 ล้านบาท แล้วเทียบกับงบประมาณประจำตำแหน่งของนายพล 550 ล้านบาทต่อปี สะท้อนถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อความกินหรูอยู่สบายของบรรดานายพล ที่ไม่คำนึงถึงการปฏิบัติงานของทหาร มากกว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อความมั่นคง”

สำหรับงบประมาณในการฝึกศึกษาทางการทหาร มารวมกับงบในการเตรียมกำลังพลป้องกันประเทศ เป็น 2,747 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากงบปี 2567 มา 582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะอะไร เพิ่มเพราะเกี่ยวข้องกับการฝึกการปฏิบัติภารกิจร่วมกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีงบเกี่ยวกับโดรนหรือแอนตี้โดรนหรือไม่ หากไม่มีจะเพิ่มได้อย่างไร ในเมื่อยอดการเกณฑ์ทหารลดลง ยอดบุคลากรก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ไม่มีงบเพียงพอต่อการพัฒนาขีดความสามารถ ไม่มีงบลงทุนในเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จะทำให้กองทัพอ่อนแอในระยะยาว มีเพียงความพร้อมในการก่อการรัฐประหาร และประหัตประหารชีวิตประชาชนเท่านั้น” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า งบค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก ที่เพิ่มขึ้นมากว่าพันล้านบาท งบส่วนนี้ถูกตั้งข้อสังเกตมาทุกปีว่ามีอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำ และมักถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ซื้ออาวุธประเภทอื่น ตามระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งหากวงเงินไม่เกินพันล้าน ผอ.สำนักงบประมาณก็สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายงบส่วนนี้ได้เลย ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ 2568 ต้องสอดส่องอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้กองทัพบกตั้งงบนี้เพิ่มพันกว่าล้าน แล้วมาขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายหลัง โดยที่สภาและรมว.กลาโหมก็ได้แต่มองตาปริบๆ ด้วย

“ในระเบียบนี้ข้อที่ 17 เขียนไว้งามไส้ที่สุด ว่าเมื่อกองทัพตกลงกับสำนักงบประมาณแล้ว ให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบภายใน 45 วัน เท่ากับระเบียบนี้อนุญาตให้กองทัพงุบงิบกับสำนักงบฯ เปลี่ยนแปลงงบประมาณเลย แล้วมาแจ้งรัฐมนตรีภายหลัง ทำเหมือนรัฐมนตรีเป็นแค่โฆษกกองทัพบก ผู้ที่ลงนามในระเบียบนี้ก็รมว.กลาโหมคนก่อน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็หวังว่ารัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ชื่อ สุทิน คลังแสง จะกล้าแก้ไขระเบียบนี้ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเป็นหัวหลักหัวตอ ถึงเวลาที่รัฐมนตรีต้องเลิกขอ แต่ต้องสั่งการ และกำชับด้วย เพราะที่ผ่านมาเคยสั่งการไปแล้วว่าไม่ให้หักค่าสูบส้วม เพียงแต่ผู้บังคับกองพันยังไม่ปฏิบัติตามเลย ” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนอยากเรียกร้องให้แผนการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 ของกองทัพอากาศ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่ามีความจำเป็น แต่ต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชยที่ให้ประชาชนพลเรือนได้ประโยชน์ร่วมด้วย คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร ที่กองทัพอากาศควรต้องได้รับลิขสิทธิ์ทางปัญญาส่วนหนึ่ง หากกองทัพอากาศต่อรองดีๆ มูลค่าการชดเชยอาจสูงเทียบเท่าราคาที่จัดซื้อก็ได้และควรส่งมอบเครื่องบินโจมตีขับไล่หรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ในช่วงเวลาที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น รัฐประหารเมื่อไหร่ไม่ต้องส่ง” และ “กองทัพอากาศขอให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้เครื่องบินขับไล่ที่มาจากภาษีประชาชน ในการปฏิบัติภารกิจที่คุกคามระบอบประชาธิปไตย หรือเข้าข่ายการละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งในและต่างประเทศ

หากกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินมีความโปร่งใส มีราคาที่เหมาะสม และมีนโยบายชดเชย ตนและกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จะไม่ขัดขวางงบประมาณส่วนนี้ และยังจะปกป้องงบประมาณไม่ให้ซ้ำรอยกับงบจัดซื้อเรือฟริเกต

นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนควรจะคาดหวังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพอยู่ภายใต้พลเรือน แต่ที่ผ่านมา งบประมาณไม่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้เลย

กลับเป็นเพียงหุ่นเชิด เป็นโฆษกคอยแก้ต่างให้กองทัพ ดำเนินนโนบาย ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ของ พลเอกประยุทธ์ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อาจจะทำได้ดีกว่า พลเอกประยุทธ์ ทำเองด้วยซ้ำ น่าผิดหวังมากที่คุณสุทินไม่สามารถโอบรับความหวังของประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้เลย” นายวิโรจน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น