“เลขาฯ ผู้ตรวจฯ” แจงคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ กม.ฟ้องชู้ขัด รธน. เพราะปัญหาไม่เท่าเทียมทางเพศ หญิงฟ้องชู้สามีที่เป็นเพศเดียวกันไม่ได้ แต่หลังจากครบ 360 วัน จะสามารถฟ้องชู้เพศเดียวกันได้แล้ว สอดคล้องกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
วันนี้ (18 มิ.ย) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองวรรค สาม และกำหนดบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนั้น
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวชี้แจงในฐานะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าที่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้อง เพราะเห็นว่าถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาทำให้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก “ชู้” เพศใดก็ได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าภริยาจะสมัครใจหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเป็นการแสดงความสัมพันธ์โดยเปิดเผยหรือไม่
ในขณะที่หากเป็นฝ่ายภรรยา จะฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากคนที่มาเป็นชู้กับสามีของตนได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น “ผู้ชายที่มาเป็นชู้กับสามีตนภรรยาฟ้องไม่ได้” อีกทั้งถ้าชู้ของสามีเป็นหญิงยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นหญิงที่แสดงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวโดยเปิดเผย ถ้าคบกันหลบๆซ่อนๆไม่เปิดเผยจะไปเรียกค่าทดแทนไม่ได้
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยโดยเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27ที่กำหนด บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศจะกระทำมิได้ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วกระบวนการหลังจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เมื่อครบ 360 วัน จะส่งผลให้สามารถฟ้องชู้เพศเดียวกันของสามีได้ ตามคำวินิจฉัยของศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มาตรา 49 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาวันนี้ ได้ระบุยกเลิก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 ทั้งมาตราแล้ว โดยระบุ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น
“คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้ หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้”
ซึ่งเป็นการแก้ไขคำจาก ผู้ซึ่งล่วงเกินสามี/ภรรยา (ชู้) เป็นผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรส เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศตามหลักการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม