xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษฯพ่วง112 ส่อแท้ง ต้านแรง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดทีเดียว กับผลสำรวจที่เพิ่งออกมาล่าสุดเกี่ยวกับเสียงคัดค้านการเสนอร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดทางการเมือง ที่ให้รวมถึงผู้ที่มีความผิดตามมาตรา112 ซึ่งผลโหวตที่ออกมา กลายเป็นว่าเสียงคัดค้านมีจำนวนสูงมากคือ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีคนเห็นด้วยแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เมื่อผลออกมาแบบนี้ มันก็ย่อมทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปไกล นั่นคือ ต้องกระทบไปถึงคนหลายคน ทั้งในพรรคก้าวไกล ที่มีสส. และแกนนำพรรคหลายคนกำลังถูกดำเนินคดี และมีความผิดในคดีดังกล่าว

อีกทั้งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังจะถูกสั่งฟ้องคดีความผิดตามมาตรา 112 ในวันที่ 18 มิถุนายน นี้ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคนสังเกตเห็นว่าพรรคเพื่อไทยที่เขามีอิทธิพลสำคัญ พยายามผลักดันให้ครอบคลุมไปถึงความผิดดังกล่าวที่ “นายใหญ่” ต้องคดีในเวลานี้

สืบเนื่องจากกรณี เว็บไซต์รัฐสภา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตาม มาตรา 77 รัฐธรรมนูญของ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ... ที่ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน ร่วมกันเสนอ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้าย

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ที่ขึ้นเว็บไซต์ รัฐสภา ที่นิรโทษกรรมรวมคดี 112 ด้วยนั้น มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน เป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่คดีตาม ร่าง มาตรา 5 ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรมโดยคณะกรรมการไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้

1. คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557
3.คดีตามฐานความผิดใน มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


4.คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
5.คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น

ทั้งนี้ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง หรือการสลายการชุมนุมที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตาม มาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้รับนิรโทษกรรม และหากการกระทำของบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรม ตามพระราชบัญญัตินี้สร้างความเสียหายแก่บุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้เสียหายนั้นยังคงมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำ

ล่าสุด วันที่ 13 มิถุนายน ได้ปิดรับฟังความเห็นแล้วพบว่า มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 90,503 คน โดยไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 64.66% เห็นด้วย 35.34 %

ผลสำรวจที่ออกมาดังกล่าว อีกด้านหนึ่งเหมือนกับการ “ตบหน้า” พวกที่สนับสนุนให้แก้ไข หรือ ยกเลิกมาตรา 112 ดังฉาดใหญ่ โดยเฉพาะพลพรรคก้าวไกล และเครือข่ายที่แสดงสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” หรือเรียกว่า “กฎหมายของพวกสามนิ้ว” มีความพยายามผลักดัน กดดันกันทุกทาง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ หากมองถึงความต้องการภายในที่พวกเขามีทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาตลอด และที่สำคัญมีระดับหัวขบวนของพรรค ทั้งที่มาในแบบพวกที่ทำตัวเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” บางคนที่กำลังโดนคดี และยังมีส.ส.หลายคนที่โดน และบางคนเริ่มมีการตัดสินคดีกันไปบ้างแล้ว มีความเสี่ยงคุก หรืออย่างน้อยเสี่ยงที่จะพ้นจากเก้าอี้ส.ส. ที่ตัวเองเพิ่งลิ้มรสเพียงสมัยแรก

แต่อย่างว่า ยังมีระดับ “ตัวเบ้ง” อีกคนที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะถูกอัยการส่งฟ้อง ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะนำตัวส่งฟ้องศาลในความผิดตาม มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในวันที่ 18 มิถุนายน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จนทำให้เป็นที่จับตามองว่าในวันดังกล่าวเขาจะหนีหรือไม่หนีกันแน่

แต่การที่ผลสำรวจที่ออกมาแบบนี้ โดยเฉพาะการสำรวจที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐบาลที่ต้องสำรวจความคิดเห็นขอประชาชนตามกฎหมาย ที่ต้องมีการแสดงตน มีหมายเลขบัตรประชาชน ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นแบบเป็นทางการ เป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด และยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน เมื่อวกกลับมาที่ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดเริ่มแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ให้ครอบคลุมไปถึงความผิดตาม มาตรา 112 ด้วย ด้วยเหตุผลที่หลายคนมองว่า เป็นเพราะ “นายใหญ่” ของพวกเขากำลังถูกดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว ให้พ้นความผิดไปด้วย แม้ว่ายังเป็นแบบไม่เต็มปากเต็มคำ แต่พอมองออก ว่าต้องการโหวตหนุนแบบเดียวกับพรรคก้าวไกล

แต่เอาเป็นว่างานนี้ ต้องเจอของจริง กับแรงต้านที่สะท้อนกลับมาอีกครั้ง แบบชัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ยังเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องการให้อยู่เหนือการเมือง เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงในลักษณะแบบนี้ทุกครั้ง แต่ฝ่ายที่ต้องการบั่นทอนสถาบันฯ ก็ยังไม่ยอมลดละ ยังทำทุกทางทั้งในและนอกสภา ทั้งบนดิน และใต้ดิน เคลื่อนไหวกันไม่หยุดหย่อน แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้มันก็เหมือนการตอกย้ำให้เห็นชัดๆ อีกครั้ง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น