กมธ.สภาฯ ร่วมชง 3 แนวทางเปิดทางบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิดกฎหมาย พร้อมหาทางคุมเข้มป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย ไม่หวั่นข้อครหาบินทัวร์โรงงานบุหรี่ไฟฟ้าเอกชนจีน “นิยม” อ้างเพื่อให้กฎหมายไทยตามทันนวัตกรรมบุหรี่ไฟฟ้าสมัยใหม่
วันที่ 13 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าได้เชิญคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร มีทั้งหมด 35 คณะ และคณะมาจากหลากหลายองค์กร รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามาให้ความคิดเห็น ยืนยันว่าการศึกษาของกรรมาธิการมีความอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้คำสั่งหรือคำบงการของผู้ใด ไม่ขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากฝ่ายใด ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กมธ.ได้ศึกษาผลกระทบต่างๆหลายด้าน ไม่ว่าด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยที่มีต่อเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่ง กมธ.ตระหนักและให้ความสำคัญสูงสุด คือ การบาดเข้าไปถึงเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราจะต้องมองอย่างรอบด้านถึงการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่เรามองไม่เห็นคือเรื่องผลประโยชน์ในหน่วยราชการส่วนหนึ่ง และพ่อค้ามีมูลค่าหลายพันล้านหรือหมื่นล้านบาท เพราะวันนี้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับมีการระบาดอย่างมากมายในเด็กและเยาวชน กมธ.จะต้องหามาตรการด้านกฎหมาย การควบคุมที่เหมาะสอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพความเป็นจริง และบริบทของประเทศไทยเราด้วย เราจะใช้แบบอย่างบางประเทศก็ใช้ไม่ได้ เช่น บางประเทศควบคุมและดูแลเรื่องกฎหมายได้ดี เช่น สิงคโปร์ แต่จะนำมาใช้ในประเทศไทยทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นคณะ กมธ.ได้ตั้งคณะอนุ กมธ.2 คณะ คือคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมาย และคณะอนุ กมธ.จัดทำรายงาน
นายนิยม กล่าวว่า แนวทางการพิจารณาของ กมธ.มีความเป็นอิสระตามบริบทของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเมื่อกรรมาธิการฯมีข้อสรุปเสร็จจะนำเสนอต่อสภาฯ ส่วนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะ กมธ.จะเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศจีนระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคม แต่จากข้อมูลเยาวชนของประเทศจีนไม่ติดบุหรี่ไฟฟ้า หรือระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะไปดูในส่วนของราชการ การยาสูบของจีน เมืองกวางเจา เพื่อศึกษากฎหมายและสิ่งต่างๆ ส่วนที่หลายฝ่ายสงสัยคือการไปดูงานของบริษัทเอกชน ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีน เมืองเซินเจิ้น เพื่อที่จะเราจะออกกฎหมายว่านวัตกรรมบุหรี่ไฟฟ้าเขาไปถึงไหนแล้ว จำเป็นต้องหาข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อจะทันต่อการเปลี่ยนแปลง และนำมาปรับกฎหมายให้ทันต่อเหตุการณ์ เราต้องไปให้รู้เขารู้เรา
“เราไม่ได้ปิดกั้นว่าจะแบนทิ้งทั้งหมด หรือเอามาเป็นบางส่วน สุดท้ายกรรมาธิการฯจะเป็นคนตัดสินใจจะเลือกแนวทางไหน เพราะฉะนั้นการไปศึกษาดูงานเราไม่ได้มีธงว่าจะตัดสินใจอย่างไร เราไปครั้งนี้กินอยู่อย่างประหยัด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ ไม่ได้อยู่ใต้การบงการ คำสั่งหรือแรงกดดันของใครทั้งสิ้น กมธ.ศึกษามีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย”นายนิยม กล่าว
ด้านนพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เลขานุการฯ และในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกํากับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่รู้กันข้อกังวล ข้อห่วงใยในสังคมมีเยอะว่าทำอย่างไรให้เยาวชนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ยาก แต่ปัจจุบันกฎหมายยังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายยังขาดความจริงจัง ทำให้เด็กของเรามีโอกาสสูงในการเข้าสู่บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคณะอนุฯได้ศึกษาแนวทางและได้เสนอต่อ กมธ.ชุดใหญ่ใน 3 แนวทางคือ 1.กำหนดให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ทางเลือกที่เหมาะกับประเทศไทย ทางเลือกที่หนึ่งแก้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการครอบครองและผลิต เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง และทางเลือกที่ สองจัดให้มีกฎหมายใหม่ในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ โดยรวมหลักการ มาตรการทุกมิติไว้ในกฎหมาย การห้าม ห้ามการผลิต ห้ามนำเข้า การจำหน่าย ห้ามโฆษณาการสื่อสาร ต่างๆ รวมถึงห้ามการสูบด้วย
นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า 2.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน คือ Heated Tobacco Product หรือ Heat Not Burn. Tobacco เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผลิตยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย แก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ แก้คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมยาสูบแบบให้ความร้อน ให้เป็นยาสูบตามพ.ร.บ.สรรพสามิต เข้าไปดูในมิติของการควบคุม การเข้าถึง การโฆษณา การสื่อสาร ภายใต้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น และ 3.ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนทั้งสองอย่าง เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะนำเสนอ กมธ.ชุดใหญ่
นพ.ภูมินทร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามคณะอนุ กมธ.มีข้อสังเกตเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย คือ นิยามคำว่า “บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆให้มีความชัดเจน เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายอย่างมีมีประสิทธิภาพ 2.ขอให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ทั้งมิติทางกฎหมายและมิติอื่นๆทุก 5 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้นตามความจำเป็น เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดทุกมาตรการ ต้องกำหนดทุกแนวทางให้เข้มข้นป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเด็ก และเยาวชนของเรา
เมื่อถามว่าเคยมีการร้องเรียนตัวแทน กมธ.บางท่านที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ จะทำให้การพิจารณาของ กมธ.มีความเอนเอียงในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจยาสูบหรือไม่ นายนิยม กล่าวว่า กมธ.มาจากหลากหลายองค์กร ซึ่งมาถูกต้องตามระเบียบราชการ ซึ่ง กมธ.ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะจริงๆเราก็ไม่ทราบมาจากองค์กรไหน ดังนั้นการพิจารณาก็เป็นไปตามเหตุและผล แต่สุดท้าย กมธ.ทั้ง 35 คนก็จะลงมติว่าจะยึดแนวทางไหน คงจะมีการเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ซึ่งทุกความเห็นของ กมธ.ก็จะบันทึกหมดให้กับสภาฯ
เมื่อถามว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ กมธ.บินไปดูงานบุหรี่ฟ้าต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อผลการศึกษาของ กมธ.มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ นายนิยม กล่าวว่าการเดินทางไปประเทศจีนก็ไม่มีผลกระทบใดๆในการตัดสินใจของ กมธ.เพราะเราไปศึกษาดูงานในประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่แปลกที่เยาวชนเขาไม่ติด ทั้งๆที่เขาเป็นประเทศที่มีบุหรี่ไฟฟ้าจำหน่ายถูกต้อง หรือประเทศสิงคโปร์ถือว่าเป็นประเทศที่ดีมากในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่บริบทของประเทศเขาต่างจากเรามาก การบังคับใช้กฎหมายต่างกัน เราไปประเทศจีนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราแค่ไปดูงานไม่ได้ไปโน้มน้าวจิตใจ เพราะทุกคนไม่ได้มีผลประโยชน์ มีอิสระในการที่จะคิดและทำ