อดีตส.ส.เชียงราย ‘หมอเอก’ ชี้ข้อเสนอมาตรการคุมบุหรี่ไฟฟ้าจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นการ “ทำสิ่งเดิมซ้ำๆแต่หวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” ยันอัตราการสูบบุหรี่และจำนวนผู้สูบบุหรี่ในไทยแทบไม่ลดลง แม้มี สสส.มา 30 ปี พร้อมยกประเด็นงบประมาณสสส. 300 ล้านที่ส่อแววผลประโยชน์ทับซ้อน ยันหากไทยอยากกลดคนสูบบุหรี่ให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 ต้องปรับวิธีคิด
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดเชียงราย และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “หมอเอก Ekkapob Pianpises” เกี่ยวกับข้อเสนอในเรื่องมาตรการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า
“มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง จากข้อสรุปของที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้มีข้อเสนอเรื่องมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า สรุปได้ 5 ข้อ 1. พัฒนาการจัดการความรู้ 2. สร้างการรับรู้ 3. เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย 4. พัฒนาศัพยภาพภาคีเครือข่าย 5. ยืนยันมาตรการป้องกัน-ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ทั้ง 5 ข้อนั่นคือการทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ แล้วเราจะหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างได้หรือ?”
โดยหมอเอกวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ข้อเสนอ 1-4 นั้นอาจเอื้อให้สสส.ทำการ ‘แจกจ่าย’ ให้กับเครือข่าย ซึ่งตนอยากให้ประชาชนจับตาดูและตั้งคำถามว่าเครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลหรือองค์กรใดบ้าง พร้อมระบุว่าการเสนอให้ใช้วิธีเดิมซ้ำๆโดยคนกลุ่มเดิม ๆ อาจนำมาซึ่งความ ‘ล้มเหลว’ แบบเดิม ๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการควบคุมยาสูบโดยการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเส้น ในภาพรวม โดยมุ่งไปยังเป้าหมายการสร้างสังคมไร้ควัน หรือการที่มีอัตราผู้สูบบุหรี่ในประเทศต่ำกว่า 5% จากที่ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราผู้สูบบุหรี่สูงถึง 17-18%
ก่อนหน้านี้ หมอเอกได้เคยออกมาให้ความเห็นเนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ประจำปี 2567 ระบุว่า “วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก กับประเทศไทยที่โหมทำกิจกรรมเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า เหมือนกับจะเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจที่ ความล้มเหลวในการควบคุมยาสูบ ?!!!”
หมอเอกระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2545 มีการจัดตั้งสสส.ขึ้น จากนั้นบุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนในปี 2557 และมีพรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบออกมาในปี 2560 ขณะที่มีงบประมาณรณรงค์จากสสส.กว่าปีละ 300 ล้านบาท พร้อมด้วยเครือข่ายการันตีรางวัลจากองค์กรอนามัยโลกด้านการควบคุมยาสูบ รวมถึงทุนวิจัยในเรื่องการจัดการยาสูบโดยเฉพาะ ทว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถลดอัตราผู้สูบบุหรี่ได้ และมีบุหรี่ไฟฟ้าทะลักเข้ามาในประเทศในจำนวนมหาศาล ขณะที่รัฐเลือกปรับภาษีบุหรี่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการยาสูบแห่งประเทศไทยและชาวไร่ยาสูบ และนำมาซึ่งสัดส่วนการตลาดของบุหรี่เถื่อนที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างมีนัยสำคัญ
อนึ่ง หมอเอกได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการสอบข้อเท็จจริงในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าวโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา และได้มีการส่งต่อประเด็นให้แก่คณะกรรมาธิการปปช. ทว่าการสอบข้อเท็จจริงต้องหยุดดำเนินการหลังการยุบสภา
“ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ และในฐานะของผู้ที่ติดตามปัญหาด้านสาธารณสุข ผมย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่สนับสนุนให้ใครสูบบุหรี่ ใครสูบอยู่ก็ควรที่จะเลิก โดยต้องดำเนินการด้วยชุดข้อมูลวิชาการที่ไม่บิดเบือน คำนึงถึงสิทธิของประชาชน และการมองปัญหารวมทั้งรับฟังจากทุกภาคส่วน ในเมื่อชุดความคิดเดิมๆ ในเมื่อคนกลุ่มเดิมๆ ทำงานไม่ได้ตามเป้ามาร่วม 30 ปี เราจะให้โอกาสคนที่ทำพลาดซ้ำๆ ทำงานต่ออีกหรือ?”