xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดไฟเขียวเดินหน้ารถไฟฟ้าสีส้ม จบมหากาพย์แช่แข็ง 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองสูงสุดไฟเขียวเดินหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปิดจบมหากาพย์แช่แข็ง 4 ปี คำพิพากษาชี้ประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนชอบด้วยกฎหมายแล้ว

วันนี้( 12 มิ.ย.)ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค. 65(ครั้งที่2) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนที่มีการ เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและ หลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563

โดยเหตุผลการยกฟ้องศาลฯ ระบุว่า การที่บีทีเอส อ้างว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.ไม่เคยนำคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา แผนดำเนินธุรกิจ และแผนการเงิน เสนอให้ครม.เห็นชอบนั้น เป็นข้ออุทธรณ์ที่ฟังไม่ขึ้นเนื่องจากประเด็นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเสนอครม.ให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด

นอกจากนี้การที่คณะกรรมการคัดเลือก และรฟม. กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนน เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และก่อนที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม. จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
ส่วนการกำหนดผลงานในโครงการนี้ ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.ได้พิจารณาวินิจฉัยกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และหลักเกณฑ์การประเมินของเอกชนโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง จึงรับฟังได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว และการวินิจฉัยของคณะกรรมการคัดเลือกฯ รฟม. มิได้มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายตามที่บีทีเอสกล่าวอ้าง ดังนั้นการดำเนินการของการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

อีกทั้งยังรับฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม.ได้กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติ ของผู้ยื่นข้อเสนอและหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอของเอกชนโดยอำเภอใจ อุทธรณ์ของบีทีเอสจึงฟังไม่ขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นว่าประกาศเชิญชวนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ลงวันที่24พ.ค.65และเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพ.ค 65ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากมีการต่อสู้กันมายาวนานกว่า4ปี ซึ่งหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันนี้จะทำให้ รฟม.สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น