xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.นัด 3 ก.ค.วินิจฉัยบทลงโทษอาญาพ.ร.บ.เช็ค ขัดรธน.หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลรธน.นัด 3 ก.ค.วินิจฉัยบทลงโทษอาญาพ.ร.บ.เช็ค ขัดรธน.หรือไม่ หลังมีพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะพิจารณา

วันนี้ (12มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายในคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำโต้แย้งเพิ่มเติมของนายวิชา เบ้าพิมพา ที่ 1และน.ส.อนา วงศ์สิงห์ ที่2 จำเลย ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1571/2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า การที่พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 มีโทษ ทางอาญา ทำให้เจ้าหนี้มักใช้โทษทางอาญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ข่มขู่ดำเนินคดีอาญา
กับผู้ออกเช็ค ทำให้ผู้ออกเช็คต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา กลายเป็นผู้มีประวัติอาชญากรติดตัวทั้งที่เพียงแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เท่านั้น ทั้งยังทำให้เกิดต้นทุนแก่ภาครัฐที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทางแพ่งให้แก่เอกชนเพียงบางราย เป็นการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ขัดต่อหลักนิติธรรม เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลระหว่างผู้ใช้เช็คกับผู้ใช้ตั๋วเงินประเภทอื่นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากมีเพียงเช็คเท่านั้นที่มีโทษทางอาญา ขัดต่อหลักความเสมอภาค ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ทั้งการกำหนดองค์ประกอบความผิดยังทำให้เกิดปัญหาการลงโทษผู้กระทำที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริต ขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด อันเกิดจากการใช้เช็ค 2534 เป็นกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยศาลฯเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป ว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันพุธที่ 3 ก.ค.67 เวลา09.30น.


กำลังโหลดความคิดเห็น