xs
xsm
sm
md
lg

“ธันย์ชนน”เชื่อ “ส่วยทุเรียน” เป็นหนึ่งในส่วยของวงการตำรวจ มั่นใจมีทั่วประเทศ ชี้เป็นธรรมเนียมที่ควรเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(8 มิ.ย.)นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ผู้ช่วยรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และอดีตผู้สมัคร สก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีข่าว “ส่วยทุเรียน” ที่ปรากฏภาพแชทไลน์ สภ.กันทรลักษ์ มีคำสั่งให้ตำรวจและสายตรวจในสังกัด สภ.กันทรลักษ์ หาทุเรียนมาต้อนรับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มาตรวจราชการ กรณีนี้ไม่ควรเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในวงการราชการใด ๆ แม้จะเป็นประเพณีภายในวงการตำรวจที่ทำกันมานานเป็นปกติ รวมทั้งวงการคนในเครื่องแบบหรือข้าราชการ แต่ในมุมหนึ่งนี่คือหนึ่งในบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์ที่เลวร้ายที่สุด


“การเตรียมหาทุเรียนให้นายตำรวจผู้ใหญ่ไม่ใช่ภาระงานของตำรวจถึงขนาดที่จะต้องมีคำสั่งลงมา แม้จะเป็นคำสั่งแบบไม่ทางการ แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่ตำรวจชั้นผู้น้อยจะปฏิเสธได้ กลายเป็นการสร้างภาระงานทับถมงานที่มีเยอะอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นการเบียดบังเงินเดือนของตำรวจชั้นผู้น้อย หรือนำไปสู่การใช้พฤติกรรมรีดไถเพื่อให้ได้ของมา ซึ่งสุดท้ายผลของความชั่วร้ายนี้ก็ต้องมาตกอยู่กับประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ไปจนถึงตำรวจชั้นผู้น้อยอีก”


นายธันย์ชนน กล่าวต่อไป ว่าทุกคนรู้ดีว่ากรณีส่วยทุเรียนไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่หลายกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา และการจะแก้ปัญหานี้ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องใน 3 ระดับหลักๆ ได้แก่
.
1) ระดับผู้นำและนโยบาย ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนในการปราบปรามทุจริต กำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยตนเอง ออกกฎระเบียบห้ามมิให้มีการเรี่ยไรหรือให้สินบนกันในองค์กร และมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากฝ่าฝืน
.
2) ระดับระบบและกลไก ปฏิรูประบบการตรวจสอบและถ่วงดุลให้มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและตรวจจับการทุจริต เปิดช่องทางร้องเรียนให้ประชาชน ปรับปรุงสวัสดิการและค่าตอบแทนโดยเฉพาะชั้นผู้น้อยให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จัดสรรงบประมาณอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม สร้างระบบคัดกรอง เลื่อนขั้น แต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม โปร่งใส ปราศจากระบบอุปถัมภ์
.
3) ระดับบุคลากร ปลูกฝังค่านิยมของความซื่อสัตย์ สุจริต จิตสำนึกในการเป็นข้าราชการที่ดี ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ จัดอบรมจริยธรรม คุณธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ สร้างระบบจูงใจ เช่น รางวัลและยกย่องเชิดชูผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ลงโทษผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจัง เด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

“ปัญหาการทุจริตและระบบอุปถัมภ์เป็นเรื่องที่ฝังรากลึกมานาน การแก้ไขจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำ หน่วยงาน และตัวบุคลากรเอง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและลงมือทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อขจัดวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ให้หมดไปจากระบบราชการในระยะยาว” นายธันย์ชนน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น