เมืองไทย 360 องศา
หลายคนเชื่อแบบนี้ ว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกล ก็จะเกิดแรงเหวี่ยงทำให้พรรคก้าวไกล หรือในชื่อพรรคใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด จากจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ 150 คน จะพุ่งถล่มทลายเกิน 250 ที่นั่งเลยทีเดียว มีคนเชื่อแบบนั้น โดยเฉพาะพวกนักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง รวมไปถึงบรรดาพวกที่เชียร์พรรคก้าวไกล ต่างก็เชื่อร่วมกันแบบนั้น ทำนองว่า “ตายสิบเกิดแสน” อะไรประมาณนั้น
คำถามก็คือ มันจริงแน่หรือ ว่าหากยุบพรรคก้าวไกลและกระแสความนิยม ความเห็นอกเห็นใจจะเฮโลมาทางนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นความเห็นกำลังรอการพิสูจน์
สำหรับพรรคก้าวไกล ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค โดยในคําร้องอ้างว่า มีหลักฐาน อันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งคณะกรรมการบริหาร พรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกําหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคําสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
แม้ว่าที่ผ่านมาทางฝ่ายพรรคก้าวไกลจะขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงออกไป แต่ในที่สุดแล้วตามกระบวนการในการต่อสู้คดี ก็มาถึงในต้นเดือนมิถุนายนนี้แล้ว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการยื่นคำชี้แจงต่อสู้คดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ตามกระบวนการ เราจะยื่นในวันที่ 4 มิถุนายน คาดว่าจะมีการแถลงแนวทางการต่อสู้ รวมถึงการเผยแพร่เอกสาร ที่เราได้ยื่นต่อศาล ในวันที่ 9 มิถุนายน
“โดยแนวทางในการต่อสู้เราตั้งใจจะแถลงในวันนั้นทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำเต็มที่ในสิ่งที่เราทำได้ เพื่อยืนยันแนวทางการต่อสู้คดีของเรา โดยทั้งนี้ ทางสส.ของเราก็เตรียมงานในสภาอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ทั้งในเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ และการประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568” นายพริษฐ์ ระบุ
เมื่อถามว่า ความรู้สึกของคนในพรรคทีมีต่อการสู้คดียังคงดีอยู่ใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราก็ทำเต็มที่ในการปกป้องพรรค เรายังมองว่านี่คือภารกิจสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะการปกป้องพรรค แต่มันเป็นการยืนยันหลักการที่เราเห็นว่าถูกต้องอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเสียสมาธิในการทำงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะงานในส่วนของสภา ขอยืนยันว่าเรายังคงเดินหน้าเต็มที่ เป็นเอกภาพ
อย่างไรก็ดี หลายคนเชื่อว่าแนวโน้มที่พรรคก้าวไกลถูกยุบและคณะกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็น เวลา 10 ปีเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากการร้องยุบพรรคในครั้งนี้เป็นกรณีต่อเนื่องมาจากคำร้องของ ทนายความคนหนึ่งที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งศาลฯมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง
ซึ่งคราวนี้ผู้ร้องไม่ได้ร้องให้ยุบพรรค ดังนั้นเมื่อเป็นความผิดดังกล่าวทำให้เป็นไฟต์บังคับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องร้องยุบพรรคก้าวไกลตามมาในที่สุด
ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคหากผลออกมาในทางลบ ที่อยู่ในข่ายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี คือ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคในขณะนั้น นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ รวมไปถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 แม้จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อเกิดเหตุ เขายังเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่
นั่นคือ รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในช่วงที่เกิดเหตุ เป็นช่วงที่ใช้เรื่องมาตรา 112 ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งคราวที่แล้ว ซึ่งหากผลการวินิจฉัยออกมาในทางลบ ทำให้พวกเขาอยู่ในข่ายถูกตัดสิทธิ์การเมือง และแน่นอนว่านี่คือระดับ “แม่เหล็ก” ของพรรค โดยเฉพาะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ว่ากันว่า “ป๊อปปูลาร์” มาก สามารถเรียกเสียงกรี๊ดจากบรรดา “ด้อม” ทั้งหลายที่เป็นวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ที่เกือบทั้งหมดล้วนสนับสนุนพรรคนี้ และในความเป็นจริงแล้ว เขายังได้รับความนิยมมากกว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นต้นตอของพรรคก้าวไกล และยังเชื่อว่าเป็น “เจ้าของพรรค” ตัวจริงอีกด้วย
แต่คำถามก็คือ หากยุบพรรคและคนพวกนี้ถูกตัดสิทธิ์ ไม่อาจลงเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิ์ลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้คนอื่นที่เหลือ เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายรังสิมันต์ โรม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นต้น คนพวกนี้มีความโดดเด่น ได้รับความนิยมได้เทียบเท่าหรือมากว่า ได้หรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งก็เหมือนกับการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีไปด้วยในตัว
ขณะเดียวกันในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ พรรคก้าวไกล ยังมีคู่แข่งที่สำคัญก็คือ พรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจแล้ว พรรคก้าวไกลยังนำห่าง จนบางโพลบอกว่าหากเลือกตั้งวันนี้ พรุ่งนี้ พรรคก้าวไกลชนะขาด ได้เกินสองร้อยที่นั่งก็ตาม
เพราะอย่างไร ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคการเมืองหลัก ยังต้องได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำอยู่ดี แม้ว่า อาจแพ้พรรคก้าวไกล แต่ก็ไม่น่าจะต่ำกว่าหลักร้อย
ขณะเดียวกัน หากโฟกัสไปที่พรรคก้าวไกล ที่คาดกันว่า “กระแสแรง” ซึ่งอาจจะแรงจริง แต่อีกด้านหนึ่งด้วยภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเป็น “พรรคล้มเจ้า” ที่สวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคม ก็จะปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้เป็นอันขาด และที่สำคัญในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว มีกระแสประชาธิปไตยกับ “เผด็จการ” หรือ “สาม ป.” เข้ามาแบ่งความรู้สึก รวมไปถึงฝ่ายที่ถูกเรียกว่า “อนุรักษ์” ก็มีความแตกแยก กระจัดกระจาย จนต้องพ่ายแพ้แบบหมดรูป
จากบทเรียนคราวที่แล้ว ทำให้มีการประเมินกันว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า เลือกกันอย่างไร เพื่อสกัดพรรคก้าวใหม่ (ในชื่อใหม่ หากถูกยุบพรรค) หรือ จะมีพรรคใหม่ที่จะกลายเป็นที่รวมศูนย์ ซึ่งยังมีเวลาอีกพักใหญ่
ดังนั้น หากพิจารณากันในตอนนี้ แม้ว่าเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนก็เชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีโอกาสถูกยุบสูงยิ่ง และเมื่อถูกยุบแล้วบรรดาคณะกรรมการชุดเก่าจะถูกตัดสิทธิ์การเมือง ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีใครที่โดดเด่นเท่ากับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้หรือเปล่า เพราะต้องเลือกเป็นนายกฯคนใหม่ด้วย จะมีแรงดูดดึงได้มากพอ หรือไม่
อย่างไรก็ดี หากให้สรุปแบบเร็วๆตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกล (หรือในชื่อใหม่) มีโอกาสชนะเลือกตั้งมากที่สุด แต่เชื่อว่าไม่น่าจะถล่มทลาย เพราะยังมีพรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทย โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าจะถูกมองว่า “แยกกันเดิน รวมกันตี” แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องดิ้นรนสู้เพื่อรักษาอำนาจไว้ทุกทาง ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ต้องสรุปบทเรียนไม่ให้เสียงแตกแบบครั้งก่อนแน่นอน!!