xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.ยุทธพร” มองปมคุณสมบัติ “พิชิต ชื่นบาน” เคลียร์แล้ว ชี้ “ศาล รธน.” ต้องวางบรรทัดฐานให้ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักวิชาการรัฐศาสตร์” เชื่อ “กฤษฎีกา” เช็กคุณสมบัติ “พิชิต” ครบถ้วนตาม รธน.แล้ว มองคำวินิจฉัย “ศาล รธน.” จะเป็นบรรทัดฐาน หากไม่วางให้ชัดจะก่อให้เกิดการตีความที่หลากหลาย หวั่นกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

วันนี้ (3 มิ.ย.) รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีของ นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกคดีละเมิดอำนาจศาลฏีกา ว่า การที่ไม่สามารถขออุทธรณ์ได้เป็นสิ่งที่เกิดคำถามถึงหลักนิติธรรมในการให้โอกาสกับบุคคลในการอุทธรณ์ และในกรณีนี้หากไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถบอกได้ว่าบุคคลใดทำผิดจริงหรือไม่

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณี นายพิชิต ไม่ครบถ้วน รศ.ยุทธพร ยืนยันว่า สอบถามครบถ้วน เป็นการถามเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 ในรัฐธรรมนูญ โดยในรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้เกินกว่า 10 ปี ให้ถือว่าสามารถดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งกรณีนายพิชิต 15 ปี ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการเชื่อมโยงอะไรถึงตัวนายพิชิต

สำหรับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญที่รับเรื่องของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แม้จะไม่รับเรื่องของนายพิชิต แต่การพิจารณาจะเกี่ยวพันกัน และสิ่งสำคัญต้องพิจารณาว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อผูกพันทุกองค์กรที่ต้องปฏิบัติตาม เมื่อศาลรับเรื่องแล้ว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรทัดฐาน หากไม่วางให้ชัดเจนจะก่อให้เกิดการตีความที่หลากหลายและอาจจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองจนทำให้เกิดเป็นปัญหาในอนาคต

“การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าเมื่อศาลฎีกาฯมีคำสั่งแล้วในการละเมิดอำนาจศาลไม่ให้อุทธรณ์ต่อ แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะนำมาใช้เลย อาจเกิดคำถามต่อกระบวนการในการใช้กฎหมายหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

ขณะเดียวกัน อาจมีผลในทางการเมือง หากศาลไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบ ท้ายที่สุดศาลจะเป็นคู่ขัดแย้ง การใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมืองจะทำให้สถานการณ์การเมืองบานปลายต่อไป เพราะวันนี้ทุกอย่างกำลังไปได้ กำลังพัฒนาประชาธิปไตย หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งสถานการณ์การเมืองจะย้อนกลับไปที่เดิม และส่งผลกระทบกับด้านอื่นๆ โดยเฉพาะ เศรษฐกิจ สังคม

รศ.ยุทธพร ยังระบุว่า บทบัญญัติของกฎหมายในหลายเรื่องยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งกรณีที่มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คำร้องได้พูดถึงเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ในแง่ของข้อกฎหมายยังไม่สามารถชี้ได้ชัดถึงความหมายของคำว่าซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ชัดกินความได้แค่ไหน

และประเด็นของนายพิชิต ที่พูดถึงเรื่องของคุณสมบัติ ได้มีทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบคุณสมบัติในการที่จะเสนอชื่อคนที่จะเป็นรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนเหล่านั้นเป็นขั้นตอนของฝ่ายข้าราชการประจำที่ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ดังนั้น ในเรื่องนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยไม่ทำให้เกิดความกระจ่างชัด อนาคตจะกลายเป็นบรรทัดฐาน อีกทั้งกรณีของนายพิชิต เป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญว่าเราจะใช้กฎหมายกับบุคคลโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ก็จะไม่เป็นธรรมกับนายพิชิต หรือกับใครก็ตาม

รศ.ยุทธพร ยังระบุว่า กรณีนายพิชิตที่ถูกติดคุกเป็นคำสั่งศาล ไม่ใช่ทั้งคดีแพ่งและอาญา เป็นกฎหมายไม่มีในวิธีสบัญญัติ ไม่ใช่คำพิพากษา และเรื่องของคำสั่งศาลถ้าโดยหลักนิติธรรมแล้วจะต้องมีกระบวนการในการที่จะขออุทธรณ์ได้ แต่ปรากฏว่า นายพิชิตไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะศาลกล่าวว่า เป็นเหตุที่เกิดขึ้นที่ศาลฎีกา จึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญหากไม่มีความชัดเจน หรือมีประเด็นที่มีข้อสงสัย ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีการสั่งให้ไต่สวนเพื่อความชัดเจนว่า นายพิชิต เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยเรื่องนี้สามารถทำได้ เนื่องจากคำสั่งศาลต่างๆ ไม่ได้ผูกพันกับศาลรัฐธรรมนูญ

รศ.ยุทธพร ยังระบุถึงการทำหน้าที่ของ ส.ว. ที่สังคมมองว่าหมดวาระไปแล้ว อยู่ในช่วงรักษาการคือทำงานเท่าที่จำเป็น และกระบวนการในการตรวจสอบควรจะจะต้องให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งตรวจสอบกันเอง และการยื่นคำร้องตามมาตรา 82 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น